พัฒนาความเชื่อมโยงสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ระหว่างพื้นที่

ระบบโลจิกติกส์  ขนส่ง  จัดเก็บ กระจายกล่าวถึงที่สุดแล้ว ต้องบรรลุ Door to Door ดังนั้นจึงต้องมีการเชื่อมโยงทั้งมิติภูมิศาสตร์ทางพื้นที่  มิติของการขนส่งคมนาคมระบบต่างๆ ระบบราง  ทางน้ำ ทางอากาศ  และทางถนนเพื่อเชื่อมโยงระหว่างผู้ส่งกับผู้รับ  (ที่ยังมีรูปแบบการใช้ยานพาหนะที่หลากหลายเหมาะสม)

ข้อมูลต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของภาคส่วนของการเชื่อมโยงพื้นที่และระบบการคมนาคมขนส่ง

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่  6 มีนาคม  2561 เรื่อง รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 และการเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นๆ

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 และการเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นๆ ดังนี้ 

(มี 3  เรื่องคือ

1. ผลการดำเนินการตามข้อสั่งการในการปฏิบัติราชการของคณะรัฐมนตรีในพื้นที่ภาคกลาง (16 จังหวัด)

2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง ของกระทรวงคมนาคม 

3. ผลการดำเนินงานการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2560 ของพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง)

ส่วนนี้เฉพาะ 2.1

2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง ของกระทรวงคมนาคม  กระทรวงคมนาคมได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 (สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคของประเทศ เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ การเชื่อมโยงระหว่างภาคและเมืองในภูมิภาค และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้ประชาชนได้รับความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทาง โดยใช้ความได้เปรียบของพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง ซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหารทะเลครบวงจร ด้านท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงโดยเฉพาะชายฝั่งทะเลอ่าวไทย  โดยมีแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยงด้านคมนาคม ดังนี้

2.1 พัฒนาความเชื่อมโยงสนับสนุนระบบโลจิสติกส์กับพื้นที่อื่นๆ กระทรวงคมนาคมได้ส่งเสริมการพัฒนาโครงข่ายการเดินทางทั้งทางถนน ทางราง และทางน้ำ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างจังหวัดภายในกลุ่มจังหวัด และระหว่างกลุ่มจังหวัด  เพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลาง (HUB) ระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงเศรษฐกิจและสังคมกับทุกภูมิภาคของประเทศ โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ด้าน (ทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ)

2.1.1  ผลการดำเนินงานพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางถนน

กระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ได้ดำเนินการพัฒนาเส้นทางหลวงสายหลัก สายรอง ให้มีโครงข่ายที่สามารถรองรับการเดินทางและสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ของประเทศ โดยมีโครงการสำคัญ ประกอบด้วย

-  พัฒนาเส้นทางสายหลัก สายรองเพื่อสนับสนุนระบบโลจิสติกส์

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) เป็นเส้นทางหลักเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนสู่ภาคใต้ โดยก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร บนถนนพระราม 2 ระยะทาง 75 กิโลเมตร โดยในระยะแรกจะดำเนินการระยะทาง 32 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 38,700 ล้านบาท (ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี) กรมทางหลวงได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งในคำของบประมาณปี 2562

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม-ชะอำ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากกรุงเทพและปริมณฑลลงสู่ภาคใต้ เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่เป็นเส้นทางสำรองจากทางหลวงหมายเลข 4  โดยเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 109 กิโลเมตร ขณะนี้ได้สำรวจออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ ปัจจุบันกรมทางหลวงได้สำรวจมูลค่าเวนคืนที่ดินแล้วเสร็จ  คาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณารูปแบบการร่วมทุนตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ                พ.ศ. 2556 (PPP) ในเดือนมีนาคม 2561

โครงการทางหลวงหมายเลข 37 อ.ชะอำ-อ.ปราณบุรี (ทางเลี่ยงเมืองหัวหิน) ตอน อ.ชะอำ – บ.วังโบสถ์ เป็นเส้นทางหลักเพื่อรองรับการเดินทางสู่ภาคใต้ ระยะทาง 24 กิโลเมตร วงเงิน 2,200 ล้านบาท โดยจะขยายเพิ่มช่องจราจรจาก 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร กรมทางหลวง      ได้เสนอคำของบประมาณปี 2562 เพื่อดำเนินการ จำนวน 440 ล้านบาท

โครงการขยายถนนสาย ปข.1039 แยก ทล.4 – ด่านสิงขร อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การค้าชายแดนไทยกับเมียนมาร์ และบูรณาการโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาพื้นที่ย่านชุมชนชายแดนด่านสิงขร โดยจะก่อสร้างขยายถนนจาก 2 ช่องจราจร        เป็น 4 ช่องจราจร พร้อมทางแยกต่างระดับบริเวณจุดตัดกับทางหลวงหมายเลข 4 ระยะทาง 13.600 กิโลเมตร วงเงิน 1,736.300 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบทได้สำรวจออกแบบแล้วเสร็จ โดยในปี 2562 จะดำเนินการสำรวจอสังหาริมทรัพย์ และเวนคืนที่ดินในปี 2563 คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างในปี 2564-2566

โครงการบูรณะบำรุงรักษาทางหลวงหมายเลข 4 (สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์) เพื่อให้ผิวทางอยู่ในสภาพดี สามารถใช้งานได้ปกติ ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 3-6 เดือน ในปี 2561 ได้รับจัดสรรงบประมาณวงเงิน 111.706 ล้านบาท ระยะทาง 18.62 กิโลเมตร  สำหรับปี 2562 ได้เสนอคำของบประมาณวงเงิน 141.689 ล้านบาท ระยะทาง 20.343 กิโลเมตร

โครงการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 35  ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน - เอกชัย จ.สมุทรสาคร ระยะทางรวม 11.70 กิโลเมตร (ตอน 1-3) วงเงิน 2,310 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี  ในปี 2561 ได้รับจัดสรรงบประมาณ วงเงิน 462 ล้านบาท ซึ่งได้ลงนามในสัญญาครบ           ทั้ง 3 ตอน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง

2.1.2  ผลการดำเนินงานพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางราง

กระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่จะพัฒนาโครงข่ายระบบรางให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ภาคการเกษตร และธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ  ที่สำคัญ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค  การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เร่งรัดดำเนินการมีแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างเชื่อมโยงไปยังภาคอื่นๆ ของประเทศ โดยมีโครงการสำคัญ ดังนี้

1) พัฒนารถไฟทางคู่สายใต้ (เริ่มจากนครปฐม-ชุมพร) ระยะทางรวม  422 กิโลเมตร

การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ลงนามในสัญญาจ้างโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ (นครปฐม-ชุมพร) เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2560 โดยแบ่งงานโยธาเป็น 5 สัญญา คือ  ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ช่วงประจวบคีรีขันธ์ -   บางสะพานน้อย และช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร ปัจจุบันได้เริ่มงานก่อสร้างแล้ว ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปีส่วนงานอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อประกวดราคาหาผู้รับจ้างต่อไป

2)  โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทางรวม 211 กิโลเมตร วงเงิน 94,673.16 ล้านบาท

การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ส่งรายงานการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์โครงการฯ ให้กระทรวงคมนาคมเห็นชอบแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงข้อมูลเพิ่มเติมในรายงานการศึกษาฯ ก่อนส่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณา เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ต่อไป

2.1.3 ผลการดำเนินงานพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางน้ำ

กระทรวงคมนาคมโดยกรมเจ้าท่าได้ดำเนินโครงการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางน้ำ  ดังนี้

1) การขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำ มีโครงการสำคัญ ได้แก่

- จ้างเหมาขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเลร่องน้ำสมุทรสาคร  (ท่าจีน) ปริมาณดิน 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2561 ได้รับจัดสรรงบประมาณ วงเงิน 60 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการประกวดราคา ทั้งนี้ ในปี 2562 กรมเจ้าท่าได้เสนอคำขอรับจัดสรรงบประมาณวงเงิน 150 ล้านบาท เพื่อดำเนินการ โดยมีปริมาณดิน 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตร

- จ้างเหมาขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเลที่ร่องน้ำบ้านแหลม จ.เพชรบุรี วงเงิน 27 ล้านบาท อยู่ระหว่างขั้นตอนการประกวดราคา

- จ้างเหมาขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเลที่ร่องน้ำคลองวาฬ  จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปริมาณดิน 0.45 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2562 วงเงิน 27 ล้านบาท

2)  ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง / เขื่อนกันทรายและคลื่น

- ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพังคลองเขิน บริเวณวัดนางตะเคียน อ.เมือง  จ.สมุทรสงคราม วงเงิน 14.70 ล้านบาท อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

- ก่อสร้างกำแพงหินทิ้งป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณบ้านทุ่งประดู่ ม.2 ต.ทับสะแก อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 62.75 ล้านบาท อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

- ก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณ ต.บางโทรัด จ.สมุทรสาคร ได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2562 วงเงิน 45 ล้านบาท

3) การให้บริการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารเรือโดยสารการพัฒนาท่าเทียบเรือ

กรมเจ้าท่าได้มีการพัฒนาท่าเรือโดยสารเพื่อการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร เพื่อส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ โดยมีโครงการสำคัญ คือ

- โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือเฟอร์รี่ (RORAX) อ.ปราณบุรี   จ.ประจวบคีรีขันธ์   เพื่อเชื่อมเส้นทางเดินเรือจุกเสม็ด-ปราณบุรี สนับสนุนการพัฒนาตามนโยบาย Thailand Riviera ตะวันตก โดยกรมเจ้าท่าจะศึกษาและออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จในปี 2561 และจะขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับท่าเรือจุกเสม็ด ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2562-2563

- โครงการบริหารท่าเทียบเรือคลองวาฬ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งก่อสร้าง      แล้วเสร็จ และได้ส่งขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุกับกรมธนารักษ์แล้ว ปัจจุบันกรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างเร่งรัดพิจารณาหาผู้บริหารท่าเรือดังกล่าวต่อไป

2.1.4 ผลการดำเนินงานพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางอากาศ

ท่าอากาศยานหัวหินอยู่ในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยานตั้งอยู่ที่  ต.บ่อฝ้าย อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ประมาณ 450 ไร่ ขนาดความยาวทางวิ่ง 35x2,100 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่สุด คือ B737 มีลานจอดเครื่องบินที่สามารถรองรับเครื่องบิน B737 ได้ 2 ลำในเวลาเดียวกัน และรองรับการจอดอากาศยานเที่ยวบินไม่ประจำ ฉุกเฉินและค้างคืน ได้ 3 ลำ อาคารที่พักผู้โดยสาร สามารถรองรับผู้โดยสารขาเข้าและขาออกในชั่วโมงคับคั่งได้รวม 300 คนต่อชั่วโมง หรือ 0.76 ล้านคนต่อปี  กรมท่าอากาศยานมีแผนพัฒนาท่าอากาศยานหัวหิน ดังนี้

1) โครงการแก้ไขข้อบกพร่อง ด้านการรักษาความปลอดภัย ได้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2562 วงเงิน 158 ล้านบาท

2) งานปรับปรุงขยายความกว้างทางวิ่งและลานจอดเครื่องบิน วงเงิน 350 ล้านบาท โดยจะขยายความกว้างทางวิ่งจาก 35 เมตร เป็น 45 เมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบและจะขอรับการจัดสรรงบประมาณในปี 2563 เพื่อดำเนินการก่อสร้าง

#