รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ธุรกิจใหญ่ 15 รายซื้อซอง กี่รายจับกลุ่มกัน
  • 6 กรกฎาคม 2018 at 10:29
  • 836
  • 0

ในขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิมีโครงการระยะที่สอง สร้างทางขึ้นลงเพิ่ม  สร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่ม   ส่วนสนามบินดอนเมืองปรับปรุงอาคารผู้โดยสารที่มีอยู่แล้วทั้งหมด  ปรับปรุงทางขึ้นลง ลานจอด  รวมไปถึงสนามบินอู่ตะเภาเร่งสร้างความพร้อมในการเป็นสนามบินพาณิชย์ระดับนานาชาติ  โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อต่อสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ก็เร่งเดินหน้าเพื่อสร้างผลทวีคูณศักยภาพของสามสนามบินดังกล่าว

แนวคิดขยายผลต่อยอด

การขยายผลต่อยอดเป็นเรื่องดี สามารถขยายผลของโครงการต่างๆ  อาทิเช่น  เมื่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแล้ว สามารถขยายผลต่อยอดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ  ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเทคโนโลยีการควบคุมระบบเดินรถ  การซ่อมบำรุง ไปจนถึงการทำให้มีศักยภาพในการผลิตรถไฟฟ้าได้เองในที่สุด

ที่กล่าวมาเป็นระดับสุดยอดของการขยายผลดี  ดูเหมือนเป็นความใฝ่ฝัน  อย่างไรก็ตาม เมื่อดูความเป็นไปทั้งโลกแล้ว  สาธารณรัฐประชาชนจีน  สามารถทำได้ดังกล่าว  ประจักษ์พยานคือ รถไฟความเร็วสูงโครงการแรกในประเทศจีนจ้างต่างประเทศมาสร้าง  แต่ปัจจุบันจีนเป็นคู่แข่งขันในการสร้างรถไฟความเร็วสูงที่บริษัทในยุโรป และญี่ปุ่นไม่สามารถประมาทได้

การขยายผลต่อยอดในลักษณะนี้  (หรือเป็นการขยายผลต่อยอดในแนวดิ่ง เดินหน้าย้อนหลังไปยังอุตสาหกรรมต้นน้ำปลายน้ำ (Vertical Integration) สำหรับประเทศไทยอยู่ในขั้น “พยายามดำเนินการ”  ขณะเดียวกันยังมีการขยายผลต่อยอดอีกระดับหนึ่ง  หรืออีกแนวทางหนึ่งคือ การขยายผลต่อยอดในทางกว้างหรือเทียบเคียงได้กับ Horizontal Integration

การขยายผลต่อยอดโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (Eastern Sea Board)  โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)  ขยายพื้นที่จากจังหวัดระยองเป็น ระยอง  ชลบุรี และฉะเชิงเทรา

การลงทุนต่างๆ ในโครงการอีอีซี นั้นขยายผลต่อยอดในทางกว้าง เพิ่มกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความทันสมัยมากขึ้น

วงเงินลงทุนภาครัฐและเอกชนมากกว่า 1.5 ล้านล้านบาท

ภาครัฐลงทุนสร้างความพร้อมทางด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่างๆ   ภาคเอกชนลงทุนการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสนับสนุน

กล่าวอย่างสรุปในแง่มุมการขยายผลต่อยอด โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีวัตถุประสงค์หลักคือ การส่งเสริมการลงทุนที่ยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยการสร้างโครงข่ายคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ที่สมบูรณ์ ในพื้นที่เป้าหมายนำร่องใน 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง

จุดเริ่มต้นนับหนึ่งของโครงการนี้คือ เมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่  28 มิถุนายน 2559 เห็นชอบในหลักการข้อเสนอ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) ประกอบด้วย 1)    อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next – Generation Automotive)  2)    อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) 3)    อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism)  4)    การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnolgy)  และ5)    อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future)

และการเติม 5 อุตสาหกรรมในอนาคต (New-S-curve)  ประกอบด้วย  1)    อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) 2)    อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)  3)    อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) 4)    อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital) และ 5)    อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)

โครงการอีอีซี.ได้ออกแบบการขนส่งและการคมนาคมครอบคลุมทั้งทางถนน ทางราง ทางอากาศ และทางน้ำ รวมถึงให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดให้บรรษัทข้ามชาติจากทั่วทุกมุมโลกสนใจมาลงทุนตั้งฐานการผลิตที่ไทย

แผนการลงทุนของรัฐบาลตามกรอบการลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชน ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) รวมเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท

การลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐบาล รวมวงเงินทั้งสิ้น 988,948.10 ล้านบาทในด้านต่างๆคือ

1. ทางถนน : ก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-ชลบุรี, พัทยา-มาบตาพุด และแหลมฉบัง-นครราชสีมา วงเงินรวม 24,700 ล้านบาท

2. ทางราง : รถไฟทางคู่ (ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย) และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ‘ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา’ วงเงินรวม 306,673.86 ล้านบาท

3. ทางอากาศ : โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (Aerotropolis) วงเงินรวม 168,814 ล้านบาท

4. พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ระยะที่ 3) และพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด (ระยะที่ 3) วงเงินรวม 152,639.81 ล้านบาท

เอกชนเข้ามาลงทุนใน EEC ในขั้นต้นจากข้อมูลการส่งเสริมการลงทุนในจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ในปี 2560  มีจำนวนทั้งสิ้น 388 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 296,890 ล้านบาท

เป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ (New S-curve) รวม 131,651 ล้านบาท (ร้อยละ 54 ของการลงทุนทั้งหมด)

และ กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม (First S-curve) มูลค่ารวม 117,456 ล้านบาท (ร้อยละ 30 ของการลงทุนทั้งหมด)

สำหรับปี 2561 คาดว่าจะการลงทุนถึง 300,000 ล้านบาท เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย จึงเกิดความร่วมมือกับหลากหลายองค์กรจากต่างประเทศเช่น

ประเทศญี่ปุ่น: ความร่วมมือกับเครือข่ายนวัตกรรมชีวการแพทย์แห่งเมืองโกเบ หรือ KOBE Biomedical Innovation Cluster (KBIC), ความร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA)

และ ความร่วมมือกับบริษัท HITACHI ประเทศจีน : โครงการ Smart Digital Hub จากอาลีบาบา มูลค่าลงทุน 11,000 ล้านบาท ที่จะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2561-2562

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จุดเด่นการพัฒนา

แม้ว่าโครงการรถไฟทางคู่มีผลดี สร้างผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจรวมถึงพัฒนาการทางด้านอื่นๆ ของเมืองต่างๆ ในเส้นทางรถไฟได้ทั่วถึง กระจายความเจริญ  สร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้นทั้งเมืองใหญ่และเมืองเล็ก   หากมีการเร่งรัดทำให้สำเร็จโดยเร็ว  พัฒนาด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง  จุดวัดที่สำคัญคือควรสร้างรถไฟทางคู่ให้แล้วเสร็จทั่วประเทศก่อนรถไฟความเร็วสูงเส้นแรกเปิดบริการอย่างน้อย 5 ปี (จุดเน้นคือเร่งสร้างรถไฟทางคู่ให้เร็วขึ้น มิใช่สร้างรถไฟความเร็วสูงให้ช้าออกไป)

แต่ข่าวสารเกี่ยวกับการลงทุนรถไฟความเร็วสูงได้รับความสนใจมากกว่า

กล่าวเฉพาะรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) นั้นสรุปสาระสำคัญคือ โครงการนี้ครอบคลุมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินดอนเมือง-สนามบินอู่ตะเภาโดยแบ่งเป็น 3 ช่วงรวมระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร

1)  รถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยาย แอร์พอร์ตลิงก์ดอนเมือง-พญาไท ระยะทาง 21 กม.

2)  รถไฟแอร์พอร์ตลิงก์พญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 29 กม.

3)  รถไฟความเร็วสูงจาก สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม.

4)  พัฒนาพื้นที่สถานีและสนับสนุนการให้บริการผู้โดยสาร

5 สถานีมักกะสันประมาณ 150 ไร่ เป็นสถานีหลักรถไฟความเร็วสูง

6 สถานีศรีราชาประมาณ 100 ไร่ เป็นสถานี เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ และโรงซ่อม หัวรถจักรของรฟท.

กรอบการร่วมลงทุนในครั้งนี้ได้มีการนำเอาข้อเสนอและความคิดเห็นที่ได้รับจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมาพิจารณาอย่างจริงจัง เพื่อให้มีความสมบูรณ์และชัดเจนบนหลักการเปิดกว้างให้เกิดการแข่งขันของภาคเอกชน (International Bidding) เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐ โดยจะดําเนินโครงการภายใต้ประกาศคณะกรรมการนโยบายเรื่องการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือ PPP EEC Track

สนามแข่งขันของบริษัทยักษ์ใหญ่-ติดตามการจับมือกัน

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เปิดขายซองสำหรับเอกชนผู้สนใจเพื่อเข้าร่วมประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)   เพื่อร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost ในการก่อสร้าง และให้บริการไฮสปีดเทรน รวมถึงธุรกิจสนับสนุนบริการรถไฟเป็นระยะเวลา 50 ปี เมื่อรวมรวบ

รฟท.กำหนดการขายซองเอกสารข้อมูลเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน - 9 กรกฎาคม 2561 ในราคาซองละ 1 ล้านบาท เปิดรับซองเอกสารการเสนอราคาในวันที่ 12 พฤศจิกายน  2561 และประกาศรายชื่อผู้ชนะวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561

จากวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม  2561 มีเอกชนซื้อซองรวม  15  รายประกอบด้วย

1. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

2. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด

3. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)

4. บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

5. บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (EnCo)

6. บริษัท อิโตชู คอร์ปอเรชั่น จำกัด

7. บริษัท Sinohydro Corporation Limited

8. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

9. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

10. บริษัท ฟูจิตะ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด

11. บริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น

12. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)

13. บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

14. บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน)

15. บริษัท ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป

ทั้ง 15 ราย (หรืออาจจะมากกว่านี้) ที่ซื้อซองเอกสารประมูลราคา  1 ล้านบาทไป มิใช่หมายความว่า แต่ละบริษัทจะแข่งแบบข้ามาคนเดี่ยว  แนวโน้มที่เป็นไปได้มากคือการจับมือเป็นพันธมิตรกัน เพิ่มเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

ระหว่างนี้จนกว่าถึงวันประกาศผล  ย่อมเกิดการแข่งขันทางด้านข่าวสาร จากกลุ่มธุรกิจที่ซื้อซองโครงการนี้ เพื่อเพิ่มความสวยงามในการแข่งขันให้ตนเอง

#