ย้ายกระทรวงออก สร้างรถไฟฟ้าสามสายผ่าน เนรมิตความอลังการเกาะรัตนโกสินทร์
  • 28 สิงหาคม 2018 at 21:30
  • 2699
  • 0

 

รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนมี 3 สายสำคัญที่ผ่านพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์และพื้นที่ใกล้เคียง  หนึ่งสายสีน้ำเงินช่วงจากหัวลำโพงถึงสามแยกท่าพระ –บางแค และหัวลำโพง ท่าพระ-บางซื่อ-หัวลำโพง  สองสายสีส้มตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม  และสามสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน –ราษฎร์บูรณะ ภาพรวมภาพฝันคือ เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งสมัยใหม่-การขนส่งมวลชนยุคใหม่ให้มีความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่แห่งความเจริญในอดีต พื้นที่แห่งความรุ่งเรืองของกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวให้เกิดความภาคภูมิใจได้ว่า แหล่งอารยะธรรมที่มีอายุมากกว่า 230 ปีได้โอกาสอวดโฉมต่อชาวไทยและชาวโลกได้มากขึ้น

รัตนโกสินทร์มีกฎหมายดูแลเข้มข้น

เกาะรัตนโกสินทร์ตั้งอยู่บนแผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบในลักษณะเกาะ คือ มีขอบเขตอยู่ภายในพื้นที่ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาทางตะวันตกกับคลองหลอด หรือคลองคูเมืองเดิมทางตะวันออก เกาะรัตนโกสินทร์ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ

เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน คือ บริเวณที่มีอาณาเขตล้อมรอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองคูเมืองเดิม (คลองหลอด) มีพื้นที่ประมาณ 1.8 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,125 ไร่ ตั้งอยู่ในท้องที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร

เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นนอก คือ บริเวณที่มีอาณาเขตล้อมรอบด้วยคลองคูเมืองเดิม (คลองหลอด) แม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศเหนือ คลองรอบกรุง (คลองบางลำพู-คลองโอ่งอ่าง) แม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศใต้ มีพื้นที่ประมาณ 2.3 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,438 ไร่ ตั้งอยู่ในท้องที่แขวงชนะสงคราม แขวงบวรนิเวศ แขวงสำราญราษฎร์ แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ แขวงเสาชิงช้า แขวงวัดราชบพิธ แขวงตลาดยอด และแขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร

กฎหมายที่มีอยู่แล้วในการบริหารจัดการให้การใช้ประโยชน์พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์มีระเบียบไม่ทำลาย “อารยธรรม” เก่าแก่  เช่น กฎหมายการควบคุมความสูงอาคาร กฎหมายที่เกี่ยวกับระยะถอยร่นของแนวอาคาร กฎหมายที่เกี่ยวกับพื้นที่ปกคลุมที่ดิน กฎหมายการห้ามการก่อสร้างอาคารบางชนิดบางประเภท ตัวอย่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่

1. ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ภายในกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ในท้องที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528

2. ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ภายในกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ในท้องที่แขวงชนะสงคราม แขวงตลาดยอด แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ แขวงบวรนิเวศ แขวงเสาชิงช้า แขวงราชบพิธ แขวงสำราญราษฎร์ และแขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530

3. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่าพ.ศ. 2546

ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเกาะรัตนโกสินทร์อีกหลายฉบับ ในอีกด้านหนึ่งพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์มีโอกาสฟื้นฟู อารยะธรรมเก่าแก่อีกมาก ดังนั้นจึงมีความเคลื่อนไหวสำคัญจากภาครัฐ นั่นคือ แนวคิดสำคัญหนึ่งคือ ย้ายหน่วยงานราชการระดับกระทรวงออกจากพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์

ทำเกาะรัตนโกสินทร์ “ให้โล่ง”

หน่วยงานราชการระดับกระทรวงใหญ่เริ่มปฏิบัติการย้ายที่ตั้งจากเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์

ความเคลื่อนไหวที่เด่นชัดมีดังนี้

กระทรวงคมนาคม (ถนนราชดำเนินนอก) ต้องการพื้นที่สำหรับที่ตั้งใหม่กำหนดขนาดพื้นที่ไว้ไม่น้อยกว่า 10 ไร่  ในเวลานี้มี 3 ทำเลที่ทางผู้บริหารกำลังพิจารณา ได้แก่ 1.ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ย่านพระราม 9 ที่อนาคตมีรถไฟฟ้าสายสีส้มพาดผ่าน 2.ที่ดินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) บริเวณทุ่งมหาเฆม แต่ยังติดปัญหาเรื่องการเข้า-ออกที่ลำบาก และ 3.ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บนถนนกำแพงเพชร 2 เยื้องกับปั๊มน้ำมัน ปตท. ซึ่งอยู่ในบริเวณย่านสถานีกลางบางซื่อ ที่ในปี 2563 จะมีรถไฟฟ้าสายสีแดง (ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต) เปิดบริการ รวมถึงเป็นจุดศูนย์กลางการเดินทางด้านระบบราง

กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา (ถนนราชดำเนินนอก) ได้แจ้งความประสงค์ขอใช้พื้นที่โซนซี ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ สำหรับเป็นที่ทำการของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประกอบด้วยส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ (ถ.ราชดำเนิน) แล้ว ส่วนของกรมการท่องเที่ยว ซึ่งสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ รวมถึงกลมพลศึกษา (บางส่วน) ที่ปัจจุบันอยู่บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ (ถ.พระราม 1) มารวมอยู่ด้วยกัน กระทรวงท่องเที่ยวฯได้จัดทำแผนการขอใช้พื้นที่เบื้องต้นเสนอกรมธนารักษ์ รวม 30,000 ตารางเมตร ประเมินว่าแผนทั้งหมดสามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในปี 2562 และดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2565

กระทรวงมหาดไทย (ถนนอัษฎางค์ เขตพระนคร) รอผลการพิจารณาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการพิจารณาให้ใช้ประโยชน์ที่ดินราชพัสดุ 100 ไร่ บริเวณสนามกอล์ฟชลประทาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี สำหรับใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่ ตามที่ได้ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์หรือไม่

ในส่วนของ กทม. (ถนนดินสอด เขตพระนคร) กำลังทยอยย้ายหน่วยงานในสังกัดบางส่วนไปอยู่ตึกใหม่ ในศาลาว่าการ กทม. 2 ดินแดง และในอนาคต กำหนดให้ศาลาว่าการ กทม. 1 อยู่ในแผนอนุรักษ์อาคารเดิมให้เป็นพิพิธภัณฑ์

อีกด้านหนึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแผนจัดระเบียบอาคารและสิ่งปลูกสร้าง และการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อให้สอดรับกับแผนพัฒนา กทม.ระยะ 20 ปี ที่กำหนดวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2575 ให้ กทม.เป็นมหานครแห่งเอเชีย เป็นเมืองชั้นนำด้านเศรษฐกิจภาคบริการ ปลอดภัย สะดวกสบาย สวยงาม น่าอยู่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีเอกลักษณ์เฉพาะ และเป็นไปตามแผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ขณะนี้แผนดังกล่าวอยู่ระหว่างเสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณา ก่อนเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

เมื่อย้ายหน่วยงานราชการระดับกระทรวงออกไปแล้ว พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ย่อม “โล่ง”  มากขึ้น  เนื่องจากการเดินทางมาทำงาน  การติดต่อกับหน่วยงานราชการดังกล่าวย่อมลดลง จำนวนประชากรสัญจรลดลง และกระแสจราจรย่อมสะดวกคล่องตัวมากขึ้น

ปรับเกาะรัตนโกสินทร์ให้สอดคล้องกับรถไฟฟ้า

ข้อมูลจากสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่า พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์มีความจำเป็นต้องปรับผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวศิลปวัฒนธรรมและโบราณสถานในพื้นที่รอบกรุงรัตนโกสินทร์ และพระบรมมหาราชวัง รวมถึงรองรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน และสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค ที่แนวเส้นทางพาดผ่านพื้นที่ชั้นในเกาะรัตนโกสินทร์

นอกจากนี้มีแผนสำคัญจากสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นั่นคือการว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรับปรุงแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ใหม่ฉบับปี 2560  แผนแม่บทฯฉบับใหม่นี้ขยายขอบเขตพื้นที่ครอบคลุมมากขึ้นนั่นคือ

1.กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน

2.กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก

3.ฝั่งธนบุรี ตรงข้ามบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์

4.พื้นที่ต่อเนื่องบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ตั้งแต่แนวคลองรอบกรุงถึงแนวคลองผดุงกรุงเกษม

และ 5.บริเวณพื้นที่ต่อเนื่องบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์

การเพิ่มพื้นที่ดังกล่าวมีโอกาสทำให้ เกาะรัตนโกสินทร์มีความ "สมบุูรณ์"  ครบถ้วน มากขึ้น

เพิ่ม “เสน่ห์” ใหม่ให้เกาะรัตนโกสินทร์

ไม่เพียงมีเสน่ห์แห่งอารยะธรรมเก่าแก่  เกาะรัตนโกสินทร์ยังมีโอกาสเพิ่มเติมเสริมแต่งเสน่ห์ใหม่ๆ

ตัวอย่างเช่น ในส่วนของถนนราชดำเนินและพื้นที่ในบริเวณที่ต่อเนื่อง มีแผนพัฒนาควบคู่กับการอนุรักษ์ เนื่องจากเป็นสถานที่สำคัญและเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ มุ่งทำให้เป็นแลนด์มาร์กการท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม และโบราณสถานของประเทศไทย เหมือนกับถนนฌ็องเซลิเซ่ของประเทศฝรั่งเศส

รูปแบบการดำเนินงานบางประการที่มาจากการจัดทำแผนแม่บทอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ในเบื้องต้น   เช่น แนวคิดทำให้พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในและชั้นนอกปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เป็นรูปโฉมเดียวกัน เช่น ทาสีอาคารเป็นโทนเดียวกันทั้งหมด คือ สีเหลืองอ่อนและสีเทาอ่อน ส่วนสีหลังคาให้เป็นสีน้ำตาลแดงเหมือนกันทั้งหมด

นอกจากนี้ สำนักผังเมือง กทม.อยู่ระหว่างศึกษาและเตรียมการออกกฎกระทรวงเรื่องการกำหนดสถาปัตยกรรมอาคารต่าง ๆ ให้เป็นสถาปัตยกรรมเดียวกัน เช่น สไตล์ยุโรป เนื่องจากพื้นที่ชั้นในมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่อยู่จำนวนมาก นอกจากคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมืองรวม กทม.ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์เป็นพื้นที่สีน้ำตาลอ่อน หรือเป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย  ต้องควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่ให้มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่จนบดบังทัศนียภาพที่งดงามจากสถาปัตยกรรมเก่าแก่ทั้งแบบไทยและตะวันตกที่มีอายุมากกว่า 100 ปีถึง 200 กว่าปี

ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า แผนปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ในโซนเกาะรัตนโกสินทร์ นั้นกำหนดให้บางกระทรวงต้องย้ายออกจากบริเวณที่ตั้งเดิม เหตุผลเป็นเรื่องของความคับแคบและแออัดเป็นหลัก ส่วนในมิติการท่องเที่ยวหากสามารถบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ได้ดี และสร้างแลนด์มาร์กขึ้นมาได้ ย่อมทำให้พื้นที่บริเวณนี้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากขึ้น เหมือนในหลาย ๆ ประเทศที่มีการทำถนนและปรับปรุงพื้นที่ให้คนเดินเที่ยวได้สะดวก โดยอาศัยความโดดเด่นของถนนและย่านต่าง ๆ ในบริเวณนี้ และมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน เช่น ชุมชนรอบ ๆ ถนนราชดำเนิน ที่มีความน่าสนใจทั้งวิถีชีวิตและอาหาร สามารถนำไปเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวได้ ที่สำคัญมองว่าแนวทางการปรับปรุงดังกล่าวนี้จะทำให้ทำเลเกาะรัตนโกสินทร์เป็นแลนด์มาร์กด้านการท่องเที่ยวที่โดดเด่นยิ่งขึ้น

ความคืบหน้าด้านรถไฟฟ้า

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงที่เปิดบริการแล้วคือ เตาปูน-บางซื่อ-หัวลำโพง   ในส่วนที่กำลังก่อสร้างกำหนดเปิดบริการดังนี้ ช่วงหัวลำโพง-บางแค : ปี 2562 ช่วงเตาปูน-ท่าพระ : ปี 2563  (และแผนงานช่วงบางแค-พุทธมณฑล สาย 4 : ปี 2565 /ขณะนี้ยังไม่ได้รับการอนุมัติก่อสร้าง)

รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน)  ล่าสุดวันที่ 27  สิงหาคม 2561 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รฟม. เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการ รฟม.  วันที่31 สิงหาคมนี้ รฟม. เตรียมเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ เป็นหนึ่งในโครงการร่วมทุน PPP Net Cost เข้าสู่ที่ประชุมพิจารณา หากได้รับการอนุมัติจะเปิดประมูลเป็นสัญญางานก่อสร้างโยธาวงเงิน 1.2 แสนล้านบาท และงานวางระบบรวมถึงบริหารจัดเก็บรายได้ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท

แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกเป็นเส้นทางใต้ดินทั้งหมด เริ่มต้นจากบริเวณด้านใต้สถานีบางขุนนนท์ ของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ในแนวตัดขวางกับถนนจรัญสนิทวงศ์ จากนั้นวิ่งผ่านสถานีรถไฟธนบุรี โรงพยาบาลศิริราช ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่แนวถนนราชดำเนินกลาง ผ่านสนามหลวง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วงที่สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผ่านสะพานผ่านฟ้าลีลาศเข้าสู่แนวถนนหลานหลวง ผ่านตลาดมหานาค เข้าสู่แนวถนนเพชรบุรีที่แยกยมราช ผ่านแยกอุรุพงษ์ แยกเพชรพระราม มาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีราชเทวี เลี้ยวซ้ายที่แยกประตูน้ำมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือตามแนวถนนราชปรารภ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่สถานีราชปรารภ เบี่ยงขวาที่แยกสามเหลี่ยมดินแดงเข้าสู่ถนนดินแดง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนวิภาวดีรังสิต และเลี้ยวขวาลอดโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี เข้าสู่ชุมชนประชาสงเคราะห์ และทะลุออกสู่ถนนรัชดาภิเษภด้วยการลอดผ่านศูนย์การค้าเอสพลานาด รัชดาภิเษกและเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล(รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน)ที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้  (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ข้อมูลจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า รฟม.เตรียมเปิดประมูลก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายจากช่วงเตาปูน-บางใหญ่ โดยมีกำหนดการในช่วงเดือนกันยายน 2561 ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เบื้องต้น รฟม.กำหนดเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบพีพีพี. ตามนโยบายของรัฐบาล วางแผนใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี เนื่องจากมีงานระบบใต้ดินค่อนข้างมาก

ภาพรวมโครงการมีระยะทางรวม 23.6 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี แบ่งออก เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน ระยะทาง12.6 กิโลเมตร จำนวน 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่ง ยกระดับ ระยะทาง 11 กิโลเมตร จำนวน 7 สถานี   แนวเส้นรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (ช่วงเตาปูน- ราษฎร์บูณะ) เริ่มจากจุดเชื่อมต่อโครงการ รถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือ (ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ)  ที่สถานีเตาปูน โดยเปลี่ยนเป็นเส้นทางใต้ดินใต้ถนนสามเสนผ่านรัฐสภาแห่งใหม่ (โรงเรียนโยธินบูรณะเดิม) เข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร แยกผ่านฟ้า เข้าสู่ถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดดารามวรวิหาร จากนั้นลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้าเข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสี่แยกบ้านแขกลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ลอดแยกมไหสวรรย์  ตรงจุดนี้ก่อสร้างเป็นทางยกระดับผ่านแยกถนนจอมทอง เข้าสู่ถนนสุขสวัสดิ์ ผ่านแยกถนนประชาอุทิศ ข้ามทางด่วนเฉลิมมหานคร เข้าสู่ราษฎร์บูรณะข้ามคลองแจงร้อน ผ่านสามแยกพระประแดง และสิ้นสุดเส้นทางที่สถานีครุใน

เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยายมี 3 จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายอื่น คือ 1.สถานีผ่านฟ้า เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม 2.สถานีสามยอด เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และ 3.สถานีวงเวียนใหญ่ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีลม และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง

การปรับผังเมืองเกาะรัตนโกสินทร์-ล่าสุดคือการย้ายกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน  สายสีส้มตะวันตก และสายสีม่วงใต้  เรื่องเหล่านี้เป็นพลังวัตรจากภาคราชการที่มุ่งหวังสร้างให้เกาะรัตนโกสินทร์เป็นเสมือน “หัวแหวน” อันเล่อค่าของกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำคัญที่ภาคเอกชนครอบครองเช่น เวิ้งนครเขษม (กลุ่มเบียร์ช้าง-ตระกูลสิริวัฒนภักดี) ไอคอนสยาม (กลุ่มซีพีและพันธมิตร)  เป็นต้น  พื้นที่เหล่านี้ย่อมพัฒนาให้สอดคล้องกับ “แผนการใหญ่”  ของภาครัฐ  เป็นเสมือน “เพชรล้อม”  ที่สมควรเพิ่มเสริมเสน่ห์ให้เกาะรัตนโกสินซึ่งเป็น “หัวแหวน”  ให้ยิ่งใหญ่อลังการมากขึ้น

เรื่องดีเช่นนี้ควรเป็นจริงในเร็ววัน

#