สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เส้นทางที่ต้องเดิน
  • 7 พฤศจิกายน 2018 at 11:44
  • 1198
  • 0

อำนาจรัฐไม่ว่าได้มาอย่างไร  เมื่อมีบทบาทในฐานะรัฐบาล สามารถบัญญัติกฎหมายต่างๆ  ได้  บุคคลและองค์กรต่างๆ ในรัฐนั้นๆ จำเป็นต้องศึกษา ทำความเข้าใจกฎหมายนั้น

กฎหมายไม่ว่าดีหรือร้ายอยางไร  เมื่อยังมีผลบังคับใช้ยังไม่ได้ยกเลิก  ก็ต้องรับรู้เข้าใจ   ส่วนกฎหมายที่อยู่ในกระบวนการเตรียมบังคับ  เป็น”ร่าง”  ยิ่งควรทำความเข้าใจ  เพื่อเตรียมตัวล่วงหน้าให้ดีที่สุด

ในครั้งนี้โฟกัสที่ “ร่างพระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ….”

 

สภาดิจิทัลกับเศรษฐกิจและสังคมไทย

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 6 พฤศจิกายน  2561 มีมติเรื่อง  เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ….   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ

3. ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

 

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. หมวดที่ 1 สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

ให้จัดตั้งสภาดิจิทัลฯ โดยให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีอำนาจหน้าที่เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติสภาดิจิทัลฯ โดยให้สภาดิจิทัลฯ มีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานคร และมีสำนักงานสาขาในจังหวัดอื่นได้และอาจมีรายได้จากค่าลงทะเบียน ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุงที่เรียกเก็บจากสมาชิก ค่าตอบแทนและค่าบริการที่ได้รับจากการให้บริการแก่สมาชิกหรือบุคคลภายนอก เงินหรือทรัพย์สินบริจาคเงินหรือทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ได้จากการดำเนินงานของสภาดิจิทัลฯ เงินรายได้อื่น ๆ และดอกผลและผลประโยชน์อื่นจากเงินหรือทรัพย์สินของสภาดิจิทัลฯ

2. หมวดที่ 2 สมาชิก

กำหนดให้สมาชิกของสภาดิจิทัลฯ แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

2.1 สมาชิกสามัญซึ่งประกอบด้วยบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัลตามข้อบังคับและสมาคมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการสนับสนุน

การประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล

2.2 สมาชิกวิสามัญซึ่งประกอบด้วยบุคคลธรรมดา ผู้ประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล ผู้ประกอบการที่ใช้ผลิตภัณฑ์หรือรับบริการดิจิทัล บุคคลที่มีความสนใจเกี่ยวกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัลและสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรดิจิทัล

2.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมดิจิทัล หรือผู้ซึ่งทำประโยชนให้แก่สภาดิจิทัลฯ หรืออุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ ซึ่งคณะกรรมการเชิญมาเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์

3. หมวดที่ 3 คณะกรรมการ

กำหนดให้คณะกรรมการบริหารมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและดำเนินกิจการของสภาดิจิทัลฯ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาดิจิทัลฯ รวมทั้งทำหน้าที่เป็นผู้แทนภาคเอกชน ประสานด้านนโยบายและการดำเนินการกับรัฐบาลเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล ตลอดจนศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ และให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำการประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล ในการนี้คณะกรรมการบริหารเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้อำนวยการ และมีอำนาจหน้าที่ออกข้อบังคับที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของสภาดิจิทัลฯ

4. หมวดที่ 4 พนักงาน

กำหนดให้สำนักงานสภาดิจิทัลฯ มีผู้อำนวยการเป็นหัวหน้าสำนักงานโดยตำแหน่ง ทำหน้าที่บริหารกำกับดูแลการดำเนินงานประจำของสำนักงานให้เป็นไปตามนโยบายคณะกรรมการบริหารและตามข้อบังคับ

5. หมวดที่ 5 การดำเนินกิจการของสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

ให้คณะกรรมการบริหารของสภาดิจิทัลฯ จัดทำรายงานประจำปีแสดงผลงานคณะกรรมการบริหารในปีที่ล่วงมา และคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญพร้อมด้วยงบดุล บัญชีรายได้ และรายจ่ายประจำปี ซึ่งมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตและรับรองและให้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อรับทราบต่อไป

6. หมวดที่ 6 การกำกับดูแลของรัฐ

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำกับดูแลการทำงานของสภาดิจิทัลฯ ได้ตามขอบเขตที่พระราชบัญญัติสภาดิจิทัลฯ กำหนดและเมื่อปรากฏว่าสภาดิจิทัลฯ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของสภาดิจิทัลฯ หรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้กรรมการคนใดคนหนึ่งหรือทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งในกรณีเช่นนี้ กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งไม่มีสิทธิเป็นกรรมการอีก เว้นแต่จะพ้นกำหนดห้าปีนับแต่วันที่รัฐมนตรีมีคำสั่ง

7. หมวดที่ 7 บทกำหนดโทษ

ผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติของสภาดิจิทัลฯ ต้องระวางโทษปรับ

8. บทเฉพาะกาล

ให้แปรสภาพสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นสภาดิจิทัลฯ โดยให้คณะกรรมการสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทยซึ่งจัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 6 คน ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนิเทศศาสตร์การสื่อสารด้านสังคม ด้านกฎหมายดิจิทัล ด้านธุรกิจการดูแล ด้านสุขภาพ (Healthcare) ด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านส่งเสริมสิทธิประชาชนอย่างทั่วถึง (Inclusiveness) ด้านละหนึ่งคนตามที่รัฐมนตรีแต่งตั้งประกอบเป็นคณะกรรมการคณะแรกของสภาดิจิทัลฯ มีอำนาจดำเนินการเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และดำเนินการเรียกประชุมสมาชิกสามัญ เพื่อเลือกตั้งกรรรมการใหม่ภายใน 365 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้ามีความจำเป็นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมขยายระยะเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 60 วัน แต่ทั้งนี้รวมกันไม่เกิน 120 วัน

 

ขยายความ //พลังสนับสนุน

เส้นทางของสภาดิจิทัลฯ มีองค์กรสมาชิกสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารแห่งประเทศไทย (TFIT)   ทั้ง 20 สมาคมที่ร่วมลงนามปฏิญญาการจัดตั้ง "สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย" ประกอบด้วย

สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI)

สมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทย (ATCM)

สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI)

สมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (CAT)

สมาคมการค้าผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวี (COA)

สมาคม ซีไอโอ 16 (CIO16)

สมาคมส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีไซเบอร์(CIPAT)

สมาคมดิจิทอลคอนเทนท์ไทย (DCAT)

สมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย (ELAT)

สมาคมเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ (INA)

สมาคมศึกษาและพัฒนาโอเพ่นซอร์ส (OSEDA)

สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟฟิกส์ไทย (TACGA)

สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (TCT)

สมาพันธ์สมาคมดิจิตอลคอนเทนต์บันเทิงไทย (TDEC)

สมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TESA)

สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA)

สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA)

สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย (TISPA)

สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย (TISPA)

สมาคมส่งเสริมการส่งออกอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (TSEP)

และที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกภายหลังอีก 2 ราย ได้แก่ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) สมาคมการค้าธุรกิจศูนย์บริการทางโทรศัพท์ไทย (TCCTA)

อนึ่งเมื่อวันที่  3 สิงหาคม  2561 ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธานในพิธีลงนามปฏิญญาความร่วมมือ พร้อมรับทราบมติเอกฉันท์ของสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารแห่งประเทศไทย (TFIT) นำโดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสมาคมฯ และองค์กรสมาชิก ทั้ง 20 สมาคม ที่ต้องการร่วมกันผลักดันการจัดตั้ง "สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย" เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักของภาคเอกชนที่ร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนอื่นๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการนำนวัตกรรมดิจิทัลไปประยุกต์ใช้เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยมีภารกิจหลัก 5 ด้าน ดังนี้

หนึ่ง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิจิทัล

สอง  การสร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึงเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

สาม การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลของประเทศ

สี่ การสร้างความร่วมมือในเวทีการค้าระหว่างประเทศเพื่อผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ห้า . การเป็นศูนย์กลางในการทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมดิจิทัล

#