งานก่อสร้าง งานชลประทาน โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี 3,100 ล้านบาท

หลักสำคัญการบริหารจัดการน้ำสั้นๆ มีน้ำใช้เพียงพอเวลาหน้าแล้ง  น้ำไม่ท่วมยามหน้าฝน น้ำหลากหรือมีพายุ  เพื่อบรรลุผลประสงค์ดังกล่าวต้องมีความพร้อมทางกายภาพทั้งด้านการกักเก็บน้ำไว้ใช้ และความคล่องตัวประสิทธิภาพสูงในการระบายน้ำตามปกติ หรือระบายน้ำเร่งด่วน  ประเทศไทยอยู่ระหว่างการสร้างความพร้อมทางกายภาพทั้งการกักเก็บน้ำและการระบายน้ำ

โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี

ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการนี้ผลจากการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่  2 มกราคม  2562 เรื่อง ขออนุมัติดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชัยภูมิ

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติให้ กษ. (กรมชลประทาน) ดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชัยภูมิ  (โครงการอ่างเก็บน้ำยางนาดี จังหวัดชัยภูมิ เดิม) มีกำหนดแผนงานโครงการ 6 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 25622567) กรอบวงเงินงบประมาณโครงการทั้งสิ้น 3,100 ล้านบาท

2. อนุมัติหลักการให้ กษ. (กรมชลประทาน) สามารถจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการจัดสรรที่ดินแปลงอพยพในกรณีที่กรมชลประทานไม่สามารถจัดสรรที่ดินแปลงอพยพให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบหรือราษฎรไม่ประสงค์จะรับที่ดินแปลงอพยพ

3. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนงานปฏิบัติการป้องกัน แก้ไข และพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ กษ. (กรมชลประทาน) เสนออย่างเคร่งครัด

สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ ให้ กษ. รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รวมทั้งข้อสังเกตของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

 

ข้อมูลสำคัญ

สาระสำคัญของโครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชัยภูมิ สรุปได้ดังนี้

1. วัตถุประสงค์โครงการ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับสนับสนุนพื้นที่การเกษตร บรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนและเขตเกษตรกรรม เป็นแหล่งน้ำด้านการอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และเพื่อรองรับแผนการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นให้เต็มศักยภาพในลุ่มน้ำชี

2. ที่ตั้งโครงการ อยู่บริเวณพื้นที่บ้านยางนาดี ตำบลชีบน อำเภอบ้านเขว้า และพื้นที่บ้านละหานค่าย ตำบลโคกสะอาด อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ

3. ลักษณะโครงการ ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก ดังนี้

1) เขื่อนดินประเภทแบ่งโซน (Zone Dam) ความยาว 1,580 เมตร ความสูง 24 เมตร ความกว้างสันทำนบดิน 9 เมตร และขนาดความจุที่ระดับเก็บกัก 70.21 ล้านลูกบาศก์เมตร 

2) อาคารระบายน้ำล้น (Spillway) ชนิดประตูระบายเหล็กบานโค้ง ขนาดความกว้าง 12.50 X 7.50 เมตร จำนวน 6 บาน

3) อาคารส่งน้ำลงลำน้ำเดิม ขนาดท่อส่งน้ำจำนวน 2 แถว กว้าง 3.80 เมตร สูง 3.00 เมตร

4. ระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 25622567)

5. ค่าใช้จ่าย รวมทั้งสิ้น 3,100 ล้านบาท

6. ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ

1) เป็นแหล่งน้ำสนับสนุนสถานีสูบน้ำตามลำน้ำชีตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนในเขตพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ จนถึงจุดบรรจบลำน้ำพองในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น

2) พื้นที่รับประโยชน์ในฤดูฝน จำนวน 75,000 ไร่ และฤดูแล้ง จำนวน 30,000 ไร่

3) เป็นแหล่งน้ำสนับสนุนการประมง

4) สามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยบริเวณพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำ

ข้อมูลเพิ่มเติม

ต้นกำเนิดลำน้ำชีอยู่ที่เขายอดชีในเทือกเขาเพชรบูรณ์ ไหลผ่าน จ.เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร แล้วไหลไปบรรจบกับแม่น้ำมูลที่ จ.อุบลราชธานี  ในช่วงหน้าฝน สองฝั่งลำน้ำประสบปัญหาน้ำท่วมล้นตลิ่งซ้ำซากตลอดลำน้ำ ขณะช่วงหน้าแล้งผืนดินแห้งผากขาดน้ำมาหล่อเลี้ยง  โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หนึ่งในโครงการที่มุ่งแก้ปัญหาดังกล่าว  เนื่องจากสามารถตัดยอดน้ำลำน้ำชี ป้องกันปัญหาการเกิดอุทกภัยในช่วงท้ายน้ำ สร้างแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อการเกษตร

โครงการน้ำชีคืออ่างเก็บน้ำยางนาดีเดิม เป็นโครงการตามผลการศึกษาโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน โครงการนี้เริ่มศึกษาเมื่อปี 2507 โดย USBR (United State Bureau of Reclamation) และได้ศึกษาโดยละเอียดอีกครั้งในปี 2514 จึงได้มีการเสนอให้ก่อสร้างเขื่อนน้ำชี เขื่อนผันน้ำที่บ้านยางนาดี และเขื่อนกั้นลำชีลอง แต่ไม่สามารถดำเนินโครงการได้ เนื่องจากต้องอพยพราษฎรจำนวนมาก ต่อมาในปี 2527 กรมชลประทานได้รับความช่วยเหลือจากประชาคมยุโรปและได้มีการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบนอีกครั้ง ผลการศึกษาแล้วเสร็จในปี 2531 และได้กำหนดให้โครงการเขื่อนชีบนและเขื่อนยางนาดี อยู่ในแผนระยะกลาง”

อ่างเก็บน้ำลำน้ำชีฯ เป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงต้องศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรมชลประทานได้ศึกษาแล้วเสร็จและแจ้งผลการพิจารณาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2540 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2540 โดยมีมติเห็นชอบต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนเรื่องอื่นๆ ให้ศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพของบริเวณพื้นที่จัดสรรอพยพเพื่อหามาตรการปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสม รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าชดเชยต่างๆ ให้ชัดเจนและให้ปรับปรุงแก้ไขรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนปฏิบัติการแก้ไขพร้อมทั้งศึกษาข้อมูลด้านการแพร่กระจายของดินเค็มเพิ่มเติมในเขตพื้นที่โครงการ และจัดทำรายละเอียดเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาอีกครั้ง

กรมชลประทานได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการดำเนินโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 นอกจากนี้ให้กรมชลประทานพิจารณาการจัดการน้ำทั้งระบบ โดยพื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์จากการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ โดยควรพิจารณาทั้งลุ่มน้ำและให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาศึกษาแนวทางการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่โครงการที่จะจัดเป็นพื้นที่ชลประทานต่อไปในอนาคตว่า พืชชนิดใดที่เหมาะสมกับพื้นที่ดังกล่าว เพื่อนำผลการศึกษามาปรับแนวทางการพัฒนาการเกษตรของพื้นที่โครงการให้เหมาะสมต่อไป 

โครงการนี้ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ(กนช.) เรียบร้อยแล้ว โดยใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 6 ปี (2561-2566)  ปี 2561 เป็นงานเตรียมความพร้อมเบื้องต้น โดยได้รับสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ประจำปีงบประมาณ 2561 จำนวน 33 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างถนนเข้าหัวงาน อาคารที่ทำการ งานถมดินปรับพื้นที่ ขยายเขตระบบไฟฟ้าแรงสูง และงานหอถังสูง ขนาด 10 ลูกบาศก์เมตร พร้อมอุปกรณ์ โดยประธาน กปร.อนุมัติเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561

โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีฯ เป็นเขื่อนดิน ความสูง 24 เมตร ความยาว 1,580 เมตร ความกว้าง 9 เมตร ความจุกักเก็บน้ำ 70.21 ล้าน ลูกบาศก์เมตรความจุของอ่างฯ ที่ระดับน้ำสูงสุด 118.87 ล้านลูกบาศก์เมตร มีอาคารระบายน้ำล้นชนิดประตูระบายเหล็กบานโค้ง 6 บาน มีอาคารส่งน้ำเดิมท่อส่งน้ำ 2 แถว พื้นที่ส่งน้ำ 165,300 ไร่ มีระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 6 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2566 ด้วยงบประมาณ 3,100 ล้านบาท

เมื่อแล้วเสร็จจะสร้างประโยชน์ทั้งด้านเกษตรกรรม สามารถส่งน้ำตามลำน้ำชีมีพื้นที่ได้ประโยชน์ในฤดูฝน 75,000 ไร่ ฤดูแล้ง 30,000ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ 12 ตำบล ราษฎร 2,959 ครัวเรือนได้รับผลประโยชน์ตลอดอายุโครงการ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนใช้สำหรับหล่อเลี้ยงลำน้ำชีในช่วงฤดูแล้ง ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาการเกิดอุทกภัยในฤดูฝนและภัยแล้งช่วงหน้าแล้ง

#