อีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานบริหารจัดการน้ำท่วมภาคกลางเดินหน้าวงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท

เพื่อสร้างความพร้อมให้กับภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector)  ทั้งภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมการสร้างสาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่างๆ   หรือโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องมีความจำเป็นเสมอ   ในกรณีของประเทศไทย โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำนั้นกล่าวได้ว่า  ต้องมีการลงทุนอีกหลายโครงการ และควรมีกำหนดเวลาที่แน่ชัด แม้ว่ามักเกิดอุปสรรคขึ้นระหว่างประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำโครงการต่างๆ อยู่เนืองๆ

ล่าสุดมีโครงการเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำที่น่าสนใจรวม 3 โครงการดังนี้

 

โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล – บางไทร

โครงการนี้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีวันที่  8 มกราคม 2562 ในเรื่อง  ขออนุมัติดำเนินโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล – บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติให้ กษ. ดำเนินงานโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล – บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีกำหนดแผนงานโครงการ 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2566) กรอบวงเงินงบประมาณโครงการทั้งสิ้น 21,000 ล้านบาท

2. มอบหมายให้กระทรวงการคลัง (กค.)  และสำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาจัดหาแหล่งเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงานต่อไป ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560

สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ  ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ  ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รวมทั้งข้อสังเกตของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไป 

สาระสำคัญของเรื่อง

1. โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล – บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในแผนการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยา 9 แผนงาน โดยเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยาถึงปากแม่น้ำ โดยการขุดคลองระบายน้ำหลากสายใหม่เพื่อผันน้ำเลี่ยงเมืองพระนครศรีอยุธยาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่อำเภอบางบาล  ถึงอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  รวมความยาวประมาณ 22.50 กิโลเมตร ซึ่งจะสามารถระบายน้ำได้สูงสุด  1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  นอกจากนี้ยังเป็นโครงการที่นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ให้เร่งรัดดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

2. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 เห็นชอบในหลักการการเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว  แบ่งเป็น

(1) การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยประชาชนประมาณร้อยละ 75 เข้าใจในวัตถุประสงค์และประโยชน์ของโครงการ

(2) การสำรวจปักหลักเขต โดยได้ดำเนินการปักหลักเขตชลประทานแล้วเสร็จเป็นระยะทาง 22 กิโลเมตร  (จากระยะทางทั้งหมด 22.50 กิโลเมตร)

และ (3) การจัดหาที่ดิน โดยราษฎรเจ้าของที่ดินได้ยื่นคำขอรังวัดแล้ว จำนวน 482 แปลง ดำเนินการรังวัดที่ดินแล้ว  จำนวน 164 แปลง  ตรวจสอบทรัพย์สินแล้ว จำนวน 78 แปลง  และได้ดำเนินการจ่ายเงินค่าที่ดินและค่ารื้อย้ายแล้ว จำนวน 52 แปลง  คิดเป็นเนื้อที่ 129 ไร่ 3 งาน 26.20 ตารางวา  เป็นเงินจำนวน 87.32 ล้านบาท (จากทั้งหมด 440 แปลง เนื้อที่ประมาณ 2,710 ไร่) นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 เห็นชอบในหลักการของร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินเพื่อขอเวนคืนที่ดินเพื่อใช้ในการดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ด้วยแล้ว

3. ในการนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการสำรวจออกแบบคลองระบายน้ำหลากและอาคารประกอบ  พร้อมส่วนประกอบอื่น เสร็จแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2561 และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ  ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2561  ได้มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล – บางไทร  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติเปิดโครงการและงบประมาณต่อไป

4. โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล – บางไทร  จังหวัดพระนครศรีอยุธยาไม่จัดอยู่ในประเภทหรือกิจการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สังคม รวมถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่โครงการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน)  จึงได้จัดทำแผนงานป้องกัน  แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้ง แผนงบประมาณให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ตามแผนงานที่วางไว้  วงเงิน 100.97 ล้านบาท (รวมอยู่ในวงเงินงบประมาณโครงการ)

 

โครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อ พร้อมระบบส่งน้ำ จังหวัดสกลนคร

โครงการนี้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีวันที่  8 มกราคม 2562  เรื่อง  ขออนุมัติดำเนินโครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อ พร้อมระบบส่งน้ำ จังหวัดสกลนคร

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)  เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติให้ กษ. (กรมชลประทาน) ดำเนินโครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อ  พร้อมระบบส่งน้ำ  จังหวัดสกลนคร มีกำหนดแผนงานโครงการ 5 ปี (งบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2566) กรอบวงเงินงบประมาณโครงการทั้งสิ้น 1,249 ล้านบาท

2. มอบหมายให้สำนักงบประมาณ (สงป.)  พิจารณาสนับสนุนงบประมาณให้เป็นไปตามแผนงานของโครงการต่อไป

สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

โครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อ พร้อมระบบส่งน้ำ จังหวัดสกลนคร มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในลำน้ำยามบริเวณบ้านก่อไว้ช่วยเหลือการเพาะปลูกโดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง  ให้แก่พื้นที่บางส่วนของอำเภอวานรนิวาส  จังหวัดสกลนคร  เนื่องจากในฤดูแล้งราษฎรในพื้นที่โครงการไม่มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค – บริโภค  และการเกษตรกรรมเป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์ปลา  และทำการประมง  รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยโครงการ ฯ ไม่จัดอยู่ในประเภทหรือกิจการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และโครงการได้ดำเนินการสำรวจ – ออกแบบ  งานประตูระบายน้ำหัวงาน  อาคารประกอบ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2560 และระบบส่งน้ำฝั่งขวาและระบบส่งน้ำฝั่งซ้าย อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และได้จัดหาที่ดิน เพื่อการก่อสร้างโครงการประมาณ 730 แปลง คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 1,640 ไร่ แบ่งเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์เนื้อที่ประมาณ 1,575 ไร่ และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์เนื้อที่ประมาณ 65 ไร่  โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมด้านการสำรวจปักหลักเขต  เพื่อให้สามารถดำเนินการด้านการจัดหาที่ดินได้ทันทีเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีให้เริ่มดำเนินโครงการ  ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นชอบการดำเนินโครงการฯ

 

โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง – น้ำก่ำ 

โครงการนี้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 มกราคม  2562  เรื่อง ขออนุมัติดำเนินโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง – น้ำก่ำ  อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)  เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติให้ กษ. โดยกรมชลประทาน ดำเนินโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง – น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร มีกำหนดแผนงานโครงการ 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2566) กรอบวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 2,100 ล้านบาท

2. มอบหมายให้สำนักงบประมาณ (สงป.)  พิจารณาจัดหาแหล่งเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงานต่อไป

สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง – น้ำก่ำ  อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตอำเภอเมืองสกลนคร  และอำเภอโคกศรีสุพรรณ  โดยการก่อสร้างคลองผันน้ำเพื่อตัดยอดน้ำจากลำน้ำพุงก่อนไหลลงสู่หนองหาร โดยผันน้ำลงสู่ลำน้ำก่ำ  สามารถลดปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่หนองหารได้ประมาณ 55  ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และช่วยเหลือประชาชนเพื่อการอุปโภคบริโภค  การเกษตร

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำล่าสุดมาจากที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2561 (วันที่ 19 ธันวาคม 2561) ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล มีการพิจารณาวาระที่สำคัญ ได้แก่

1.ร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) หลักเกณฑ์และแนวทาง การจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อรองรับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี

2.แผนงานโครงการขนาดใหญ่-โครงการสำคัญ และการขับเคลื่อนแผนงานพัฒนาโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ

3.การทบทวนการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำที่เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและผลกระทบการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำ

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ซึ่งสอดรับและครอบคลุมกับ 3 แผนหลักของประเทศ ประกอบด้วย

1. แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

2.แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรน้ำ

และ 3.เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี แบ่งเป็น 6 ด้าน ได้แก่

1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค มีเป้าหมายในการพัฒนาประปาหมู่บ้านมีคุณภาพได้มาตรฐานภายในปี 2573 ขยายเขตประปา สำรองน้ำต้นทุนรองรับเมืองหลัก แหล่งท่องเที่ยว เขตเศรษฐกิจสำคัญ อัตราการใช้น้ำต่อประชากรคงที่และมีอัตราลดลงในอนาคต

2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต อาทิ การจัดหาน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน พื้นที่รับประโยชน์ 14 ล้านไร่ ลดความเสี่ยง/ความเสียหายในพื้นที่วิกฤติ ร้อยละ 50 เพิ่มประสิทธิภาพโครงการแหล่งน้ำ และระบบส่งน้ำเดิม

3. การปรับปรุงการระบายน้ำ สิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยจัดทำผังลุ่มน้ำ และบังคับใช้ในผังเมืองรวม/จังหวัดทุกลุ่มน้ำ ป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง 764 เมือง บรรเทาอุทกภัยพื้นที่วิกฤต ร้อยละ 60 เพิ่มประสิทธิภาพการปรับตัวและเผชิญเหตุในพื้นที่น้ำท่วม

4. การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ได้แก่ การป้องกันและลดการเกิดน้ำเสียที่แหล่งกำเนิด รักษาสมดุลของระบบนิเวศ 13 ลุ่มน้ำหลัก การฟื้นฟูแม่น้ำ ลำคลอง 25 ลุ่มน้ำหลัก และคูคลองสาขา

5. การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ เป้าหมายเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม 3.5 ล้านไร่ การป้องกันและลดการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ต้นน้ำ 20.45 ล้านไร่

และ 6 การบริหารจัดการ โดยดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย ตั้งองค์กรด้านการบริหารจัดการน้ำ แผนบริหารจัดการทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต แผนการจัดสรรน้ำ รวมถึงการสร้างความร่วมมือด้านน้ำระหว่างประเทศ เป็นต้น

เพื่อให้แผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี นำไปสู่การปฏิบัติ ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับหลักเกณฑ์แนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อนำไปสู่กรอบการจัดสรรงบประมาณด้านน้ำ ใน 3 แผนงาน ได้แก่

1.แผนงานตามภารกิจพื้นฐาน (FUNCTION)

2.แผนงานตามภารกิจยุทธศาสตร์ นโยบายเร่งด่วน แนวทางปฏิรูปภาครัฐ งบประมาณบูรณาการ(AGENDA)

และ 3. แผนงานตามภารกิจพื้นที่ ท้องถิ่น ภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด (AREA) โดยมอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงมหาดไทย และ สำนักงบประมาณ จัดทำแผนงานและโครงการประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ให้เสนอคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพิจารณารายละเอียดการจัดทำแผนงบประมาณ ปี 2563 และรายงาน กนช.ทราบต่อไปเพื่อให้สอดคล้องกับแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี

นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีมติให้ความเห็นชอบโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ 2 โครงการ ซึ่งอยู่ภายใต้แผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี ได้แก่

1.โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมประชากร กรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และบรรเทาน้ำหลากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ใกล้เคียง วงเงิน 9,800 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ ปี พ.ศ. 2562-2569 องค์ประกอบโครงการประกอบด้วย อุโมงค์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.70 เมตร 1 แห่ง ความยาว 13.5 กม. อาคารรับน้ำ 4 แห่ง และสถานีสูบน้ำและอาคารระบายน้ำขนาด 60 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำในเขตดอนเมือง หลักสี่ สายไหม และบางเขน ครอบคลุมพื้นที่ 109 ตารางกิโลเมตร

2. โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน จ.สุโขทัย เพื่อบรรเทาอุทกภัย และเป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุน พร้อมทั้งส่งน้ำอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ วงเงิน 2,875 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ ปี พ.ศ. 2563-2567 ซึ่งโครงการนี้เป็นการปรับปรุงคลองหกบาท จากเดิมเพิ่มอีก 1 เท่าตัวเป็น 500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และการปรับปรุงคลองยม – น่าน ให้สามารถระบายน้ำได้ 300 ลูกบาศก์เมตร/วินาที พร้อมด้วยการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารประกอบตามแนวคลองส่งน้ำ ความยาวรวม 42 กิโลเมตร เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยในตัวเมืองสุโขทัยในฤดูฝน ตลอดจนเก็บกักน้ำในคลองไว้ใช้ประโยชน์บริเวณ 2 ฝั่งคลองตลอดสายในระหว่างฝนทิ้งช่วงฤดูแล้ง ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ 7,300 ไร่

ทั้งนี้ ทั้ง 2 โครงการดังกล่าวจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเปิดโครงการและงบประมาณตามลำดับต่อไป

อย่างไรก็ตามมีข้อมูลจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)  ว่า สทนช.ได้วิเคราะห์โครงการขนาดใหญ่-โครงการสำคัญ ที่ต้องเร่งดำเนินการปี 2562 – 2565 พบว่า ยังไม่สามารถขับเคลื่อนโครงการได้ทั้งหมดตามที่ระบุในแผนแม่บทฯ น้ำภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ เช่น ในปี 2563 มีงบผูกพัน/ต่อเนื่องมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งการคาดการณ์กรอบงบประมาณแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำประมาณปีละ 63,000 ล้านบาท แต่มีความต้องการงบประมาณมากถึงแสนล้านบาท ที่ประชุม กนช.จึงได้มอบหมายสำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง พิจารณาหาแนวทางอื่นให้สามารถขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่อยู่ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

ที่ประชุมได้เห็นชอบการทบทวนการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำที่เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและผลกระทบการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำจากเดิม 25 ลุ่มน้ำหลัก 254 ลุ่มน้ำสาขา เป็น 22 ลุ่มน้ำหลัก 353 ลุ่มน้ำสาขา ซึ่งใช้แผนที่มาตราส่วน 1:4,000 ที่มีความละเอียดสูง เป็นแผนที่หลักในการศึกษาการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำที่เหมาะสม

สำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและผลกระทบการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยมอบ สทนช. ดำเนินการจัดทำแผนที่แสดงแนวเขตลุ่มน้ำ ตามร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ มาตรา 25 และดำเนินการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อมีผลบังคับใช้ต่อไป ประชุมยังได้มอบหมาย สทนช.เป็นเจ้าภาพหลักในการอำนวยการ และกำกับดูแลให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี สาขาทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 – 2565 ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อให้ดำเนินงานเกิดผลเป็นรูปธรรม

การจัดสรรงบประมาณยังเป็นประเด็นสำคัญในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เสมอ  หลายครั้งการจัดสินใจจึงมุ่งเน้นไปที่โครงการซึ่งให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจรวดเร็วกว่า แม้อาจจะไม่มีความยั่งยืนกว่าโครงการที่ต้องเลื่อนออกไป

อย่างไรก็ตามการเลือกดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเร็วกว่า (ดีกว่า)  ก็มีส่วนสำคัญในการทำให้มีงบประมาณเพียงพอในการดำเนินโครงการต่างๆ ภายหลัง

#