2019 ครรลองเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย ไปทางไหน

 

ความเป็นจริงทางเศรษฐกิจมักไม่เป็นไปตามความต้องการ   ส่วนความต้องการทางการเมืองมีโอกาสดำเนินไปตามความต้องการของคนส่วนใหญ่ หากใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตย  ทุกอำนาจการปกครองมาจากการเลือกตั้ง มีการตรวจสอบ  มีภารกิจชัดเจน  มีกรอบเวลาแน่นอน

แต่เรื่องการเมืองก็ยังไม่แน่นอน  แม้มีโอกาส

เศรษฐกิจโลก 2019 ที่ทางสองแพร่ง

ปลายทางของยุคเศรษฐกิจโลกขาขึ้นคือ “ทางสองแพร่ง” ซึ่งเป็นคำเก่า “แพร่ง” หมายความถึงทางแยก ทางสองแพร่งคือสองทางแยกไม่ร่วงก็รุ่ง มีโอกาสน้อยที่ไปเรื่อยๆ ด้วยแรงเฉื่อย (อาจกล่าวได้ว่า แรงเฉื่อยหมดแล้ว  หากไม่สามารถสร้างพลังขึ้นมาใหม่ ก็ต้องร่วง)

สรุปเหตุการณ์สำคัญในปี  2018 พอประเมินได้ว่า เศรษฐกิจมีแรงส่ง  แรงเฉื่อยเป็นอย่างไร

เริ่มจากประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับหนึ่งของโลก  สหรัฐอเมริกา  ดูภาพสะท้อนจากตลาดหุ้นอเมริกาที่ถูกกระตุ้นด้วยการขับเคลื่อนโดยนโยบายการเงินหรืออัตราความเร็วของการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve หรือ Fed) มากกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง เช่น การลดภาษีนิติบุคคลในปลายปี 2017 ที่ทำให้กำไรของบริษัทสหรัฐฯ เติบโตขึ้นมากในปีนี้

ภาพอีกภาพหนึ่งคือ สินทรัพย์เสี่ยงที่มีความอ่อนไหวเชิงราคาสูง  อาทิ หุ้นและหุ้นกู้เอกชน ได้รับผลกระทบเร็ว (และมาก) จากข้อพิพาทการค้า (อาจเป็นสงครามการค้า) ระหว่างจีนและสหรัฐฯ

ในสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ธุรกิจภาคเอกชนในสหรัฐฯต้องหาตัวรอด เตรียมรับมือ เพราะยังมองว่า Fed จะยังขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป  การระมัดระวังตัวทำให้สภาพคล่องของตลาดเงินหดตัวลง  กดดันตลาดหุ้น ขณะเดียวกันธุรกิจและภาคประชาชนหันไปสนใจตลาดตราสารหนี้มากขึ้นในช่วงปลายปี 2518  สวนทางกับความเคลื่อนไหวในช่วงต้นปีเดียวกัน ที่แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ กดดันตลาดตราสารหนี้ให้เพิ่มผลตอบแทนสู้กับตลาดเงินเพราะดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ตลาดตราสารหนี้จึงเพิ่ม Yield สูงขึ้น และราคาลดลง

เศรษฐกิจอเมริกามีผลต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2019 นักวิเคราะห์เศรษฐกิจประเมินในทิศทางเดียวกันว่า ตลาดทุนโลกปี2019 ผันผวนสูง ศูนย์กลางที่ขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงยังมาจากสหรัฐฯ ที่อยู่ในช่วงท้ายของวัฎจักรวงจรเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงรุ่งเรือง(Peak)

หากไม่สามารถสร้างพลังขับดันเศรษฐกิจใหม่ก็ก้าวสู่ช่วงเศรษฐกิจถดถอย (Contraction

วงรอบ-วัฏจักรเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ วัฏจักรเศรษฐกิจหรือรอบของเศรษฐกิจประกอบด้วย ช่วงเศรษฐกิจขยายตัว (Expansion) / (ฟื้นตัว) ช่วงเศรษฐกิจรุ่งเรือง (Peak) / (เฟื่องฟู) ช่วงเศรษฐกิจถดถอย (Contraction) / (ฝ่อ)  และ ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ (Trough)   / (ฟุบ)

1. ช่วงเศรษฐกิจขยายตัว (Expansion) เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังจากผ่านช่วงเวลาที่ตกต่ำมากที่สุด ช่วงนี่เหมาะสมที่สุดสำหรับการลงทุน เพราะมีโอกาสทำกำไรไปมาก ภาคครัวเรือนและภาคเอกชนมีความมั่นใจในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ภาคครัวเรือนมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ภาคเอกชนกล้าลงทุนเพิ่ม รวมผลแล้วทำให้เศรษฐกิจขยายตัว เนื่องจากมีเม็ดเงินและการหมุนวนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

2. ช่วงเศรษฐกิจรุ่งเรือง (Peak) ช่วงเวลาที่อยู่ในจุดสูงสุดของวงรอบของระบบเศรษฐกิจ ภาพสะท้อนคือเป็นช่วงที่มีอัตราการจ้างงานสูงที่สุด อัตราการว่างงานต่ำ ประชาชนมีกำลังการใช้จ่ายสูง การจับจ่ายใช้สอยสะพัด ดัชนีที่ชี้ชัดคือภาคการผลิตเริ่มขาดแคลนแรงงานในการผลิต การปรับตัวแตกต่างกัน ตั้งแต่วิธีการพื้นฐาน การมจ้างพนักงานที่อาจมีคุณภาพน้อยกว่า การขึ้นอัตราค่าจ้างที่สูงกว่าปกติ ผลรวมคือทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่คุณภาพการผลิตและบริการอาจลดลง ภาพรวมคือ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ขณะเดียวกันดัชนีชี้ด้านอัตราเงินเฟ้อก็ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

3. ช่วงเศรษฐกิจถดถอย (Contraction)  ในจุด Peak ทางเศรษฐกิจของวงรอบทางเศรษฐกิจ  วงรอบธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในขาขึ้น ใกล้เคียงกับจุดรุ่งเรือง บางธุรกิจอาจมาก่อน บางธุรกิจอาจตามหลัง ขณะเดียวกันวงรอบของระบบการตลาดก็ก้าวสู่จุด Peak เช่นกัน  แต่เมื่อระบบเศรษฐกิจเข้าสู่ยุครุ่งเรืองแล้ว หากไม่สามารถสร้างพลังขับเคลื่อนใหม่ เศรษฐกิจเมื่อผ่านจุดสูงสุด Peak ไปแล้วย่อมแผ่วระบบเศรษฐกิจจะเข้าสู่สภาวะถดถอย  ดัชนีสะท้อนภาพคือตัวเลขทางด้านเศรษฐกิจที่เคยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจะค่อยๆปรับตัวลดลง เช่น อัตราการจ้างงานต่ำลง การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนต่ำลง เรื่องเหล่านี้มาจากหลายปัจจัยและกระทบกันไปมาไม่จบสิ้น เช่น เมื่ออัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้ข้าวของเครื่องใช้สินค้าและบริการต่างๆ มีราคาสูง ส่งผลให้ภาคครัวเรือนไม่มีกำลังซื้อที่เพียงพอ การจับจ่ายใช้สอยลดลง มีผลทำให้ภาคการผลิตขายสินค้าไม่ได้ ต้องลดกำลังการผลิตลง ไม่เกิดการจ้างงานเพิ่ม (กำลังซื้อก็ลดลงอีก) ผลกระทบเป็นลูกโซ่นี้ทำให้เศรษฐกิจถดถอย

ปกติแล้วมักมีการคาดการณ์เรื่องเศรษฐกิจถดถอยล่วงหน้า ภาครัฐบาลและภาคเอกชนล้วนเตรียมพร้อมรับมือกับช่วงถดถอย หากประเมินถูกต้อง มีการรับมือที่ดี การถดถอยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ถ้าหากประเมินผิดทิศผิดทางไม่มีการเตรียมการรับมือที่ดี เศรษฐกิจย่อมถดถอยรวดเร็วและเกิดผลกระทบที่รุนแรง

4. ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ (Trough) เมื่อเศรษฐกิจถดถอยจนถึงที่สุดตามธรรมชาตินั่นเป็นช่วงตกต่ำที่สุดของวัฏจักรเศรษฐกิจ ภาพสะท้อนคือ ตัวเลขการว่างงานสูง สินค้าและบริการขายได้ต่ำ ภาคเอกชนรู้สึกท้อและหมดหวัง เพราะทำอะไรก็มักจะขาดทุนไปหมด ภาคครัวเรือนไม่มั่นใจในการจับจ่ายใช้สอย ผลรวมคือไม่มีเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจทำให้เศรษฐกิจอยู่ในช่วงที่ตกต่ำที่สุด

นักวิเคราะห์ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกรอบนี้มาถึงจุด Peak แล้ว มายืนอยู่ ณ Late cycle ของเศรษฐกิจขาขึ้น ต่อไปคือ เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับอัตราการเติบโตที่จำกัดในอนาคต เมื่อหลังผ่านการฟื้นตัวและเติบโตต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2009 และมองกันว่ารอบของเศรษฐกิจโลกเมื่อดีครบ 10 ปีแล้วก็จะเริ่มถดถอย)

ฝ่อจนฟุบ หรือจุดไฟใหม่ให้เฟื่องฟูต่อเนื่อง

เศรษฐกิจโลก - ตลาดทุนโลกที่จะเดินหน้าไปทิศทางไหน อิทธิพลหลักมาจากการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed เป็นหลัก

ทางเลือกทางแยกที่ 1 มีโอกาสเกิดขึ้นร้อยละ 60 คือ Fed ขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ยอมให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเหนือเป้าหมาย 2% ในบางช่วงเวลา สถานการณ์นี้เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (ดอกเบี้ยหักเงินเฟ้อ) อยู่ระดับต่ำ หวังผลกระตุ้นกิจกรรมทางธุรกิจได้ต่อเนื่อง แม้ GDP โลกอาจเติบโตช้าลงแต่อยู่ในวิสัยที่รับได้ ตลาดหุ้นอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อไป โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเกิดใหม่

ทางเลือก(อาจเลือกไม่ได้) ทางแยกที่ 2 มีโอกาสเกิดขึ้นร้อยละ  40 คือ เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ตลาดพันธบัตรส่งสัญญาณ Inverted Yield Curve (ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวต่ำกว่าระยะสั้น) นั่นคือผลจากการที่ Fed ไม่สนใจความกังวลของตลาดและเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด ทำให้ต้นทุนกู้ยืมสูงขึ้น สภาพคล่องหมุนเวียนในระบบชะงักลง ฉุดรั้งการขยายตัวของ GDP โลก ผลต่อเนื่องคือ เงินดอลลาร์อาจแข็งค่ามากขึ้น ตลาดหุ้นถูกเทขายราคาหุ้นตกลงๆ  ราคาสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรรัฐบาลอายุยาว เงินเยน และทองคำมีโอกาสปรับสูงขึ้น

ไม่มีใครรู้ว่า เศรษฐกิจโลกปี 2019 จะปักหัวเข้าทางเลือก ทางแยกไหน  การเตรียมตัวร่วมกันของทุกภาคส่วนตั้งแต่ภาครัฐ  ภาคเอกชน  ภาคครัวเรือนคือ  ดูแลสภาพคล่องของตนเอง  เตรียมเงินสดให้พร้อม  มีหนี้ให้น้อย  หรือไม่มี ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้  หาจังหวะลงทุนใหม่ที่เหมาะสม

แต่มิใช่หมายความว่า หยุดนิ่งไม่ทำกิจกรรมอะไรเลย  ภาครัฐควรเร่งสร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางภายภาพต่างๆ ระบบคมนาคมขนส่ง – โลจิสติกส์  ภาคเอกชนเสริมความพร้อมด้านบุคลากร และช่องทางลงทุนใหม่ๆ การลงทุนของปัจเจกชนผ่านตลาดหุ้นหรือการปรับพอร์ตในปี 2019  ต้องเน้น เตรียมสภาพคล่อง กำเงินสดในมือมากกว่าร้อยละ 70 เน้นพอร์ตลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของตัวเอง กระจายลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท หลักการคือ วิเคราะห์ และมีความแม่นยำถึงพื้นฐานสินทรัพย์ที่เลือกลงทุนเป็นหลัก

ที่ต้องไม่ละเลยคือ ต้องจับตา เกาะติด สถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด แต่ก็ไม่ลืมมองสถานการณ์การเมืองในประเทศด้วย  เพราะโดยทั่วไปแล้ว หากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกดี  หากสถานการณ์การเมืองในประเทศไม่ดี แม้ผลเสียอาจไม่เกิดขึ้น กระนั้นเศรษฐกิจประเทศน้้นแม้ขยายตัว แต่อาจน้อยกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

 แต่หากเศรษฐกิจโลกย่ำแย่ และสถานการณ์การเมืองในประเทศมีปัญหา

เศรษฐกิจในประเทศนั้นย่อมย่ำแย่กว่าเศรษฐกิจโลก

#