อนาคต 10 ปีเศรษฐกิจไทย สดใสถ้วนหน้า? (ตอนที่3-จบ)

ทศวรรษหน้าหรือ 10 ปีข้างหน้าสดใสหรือไม่ เริ่มต้นนับหนึ่งที่ปีปัจจุบัน   จุดเริ่มต้นมักมีความสำคัญเสมอ และอย่างไรก็ต้องเริ่มต้น ดังนั้นมาดูรายละเอียดเกี่ยวกับข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง  เพื่อเพิ่มแรงกระตุ้นในการไขว่คว้าสร้างสรรค์เรื่องที่สดใด (ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สศช. และธนาคารแห่งประเทศไทย)

ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์

สถาบันและหน่วยงานที่มีการวิเคราะห์เศรษฐกิจมีความกังวลใจร่วมกันว่าเศรษฐกิจโลกอาจ “ไม่ดีหรือขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์”  นั่นคือ กรณีฐานคาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 3.8 ชะลอตัวลงอย่างช้า ๆ จากร้อยละ 3.9 ในปี 2561

แต่ความกังวลคือ มีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่านั้นอีก  รวมทั้งระบบการเงินโลกมีความผันผวนมากขึ้น  เหตุปัจจัยประกอบด้วย

ประการแรก ความไม่แน่ใน-มั่นใจผลการเจรจาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ทั้งนี้แม้ว่า ในการเจรจาต้นเดือนมีนาคม 2562 มีรายงานข่าวระบุว่า ผลการเจรจาค่อนข้างดี นั่นคือ  ทางวอชิงตันจะยอมผ่อนคลายมาตรการภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บจากสินค้าแดนมังกรมูลค่าอย่างน้อย 200,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ทางปักกิ่งตกลงจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่และยุติการตอบโต้กับสินค้าอเมริกัน รายงานข่าวระบุว่า มีความเป็นไปได้ว่าผู้นำของประเทศทั้งสองจะร่วมลงนามข้อตกลงสุดท้ายในวันที่ 27 มีนาคม 2562 ที่รีสอร์ตส่วนตัวของทรัมป์ในมลรัฐฟลอริดา  แต่ความล้มเหลวในการเจรจาระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือที่เวียดนามทำให้ความมั่นในเรื่องสงครามการค้าอเมริกา-จีน  อาจคลี่คลายในทางที่ดีขึ้นลดลง  ทั้งนี้ระหว่างการทำสงครามการค้าเป็นเวลากว่า 8 เดือน สหรัฐฯได้ขึ้นภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บจากสินค้าจีนรวมมูลค่า 250,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนปักกิ่งตอบโต้ด้วยมาตรการทำนองเดียวกันกับสินค้าอเมริกันมูลค่าทั้งสิ้น 110,000 ล้านดอลลาร์ ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน ห่วงโซ่อุปทานการผลิต และสินค้าเกษตรส่งออกของอเมริกาและประเทศอื่นๆ เกือบทั่วโลก มูลค่าการค้าโลกลดลงในปริมาณใกล้เคียงกัน

ประการที่สอง  มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศต่าง ๆ ที่อาจมีการดำเนินการเพิ่มเติมโดยเฉพาะการรายงานเรื่องการนำเข้ารถยนต์กับความมั่นคงของสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และทิศทางการตัดสินใจดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เกิดจากรายงานฉบับดังกล่าว เรื่องเช่นนี้อาจเป็น “ข้ออ้าง” ให้สหรัฐฯมีมาตรการทางภาษีที่สนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ภายใน

ประการที่สาม ผลลบจากสาธารณรัฐประชาชนจีน นั่นคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอาจเร็วกว่าการคาดการณ์และการเพิ่มขึ้นของปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความไม่สมดุลของระบบเศรษฐกิจ และรวมผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า และการเคลื่อนย้ายเงินทุนและฐานการผลิต

ประการที่สี่ ผลลบจากทางยุโรป อันเนื่องจากความเสี่ยงจากการแยกตัวของ สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง (No-Deal Brexit) ในวันที่ 29 มีนาคม 2562

ประการที่ห้า ดุลอำนาจทางการเมืองผ่านรัฐสภาสหรัฐฯที่เปลี่ยนไป ทำให้ความขัดแย้งในทิศทางการดำเนินนโยบายระหว่างพรรคเดโมแครต (จำนวนสส.มากกว่า) และริพับลิกัน(จำนวนสส.น้อยกว่า)อาจเป็นอุปสรรคต่อการผ่านกฎหมายงบประมาณและการแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ และอาจนำไปสู่การปิดทำการชั่วคราวของหน่วยงานภาครัฐเพิ่มเติมและการลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง

และประการที่หกความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ ๆ เช่น ความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน การถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ปัญหาทางการเมืองภายในประเทศเวเนซุเอลา และล่าสุดความอ่อนไหวกรณีปะทะชายแดนระหว่างอินเดียกับปากีสถาน เป็นต้น

ความเสี่ยงทางการเมืองในประเทศ

บรรยากาศการเลือกตั้งผ่านการหาเสียง ข่าวสาร และท่าที(ที่ไม่ควรมี) ของหน่วยงานราชการบางหน่วยงาน ทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่า หากผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ต้องการแล้วบรรยากาศทางการเมืองและทิศทางนโยบายของรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งจะ “สงบเรียบร้อย” อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจและประชาชนล้วนแสดงความคาดหมายหวังว่า การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจะเป็นไปอย่างราบรื่นและการขับเคลื่อนนโยบายที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่องก็ตาม  อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจยังพยายามประคองตัวและลดความเสี่ยงต่าง ๆ ผลคือ “รอความแน่นอน” ที่เป็นบรรยากาศทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน และความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว รวมถึงอาจทำให้กระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และการอนุมัติโครงการลงทุนที่มีความล่าช้าออกไป

รวมปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกกับปัจจัยเสี่ยงภายในของไทยแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับปีแรกของทศวรรษแห่งความหวังใหม่  อนาคตที่ควรดีขึ้น

คาดการณ์พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยปี 2562 จะเป็นอย่าง สศช.นำข้อมูล องค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจมาให้พิจารณาดังนี้

ประการแรก  การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในปี 2561 ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน แต่ยังเป็นการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก

(1) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะฐานรายได้ในภาคการจ้างงานสอดคล้องกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนผู้มีงานทำนับตั้งแต่ไตรมาสที่หนึ่งของปี 2561 และเร่งตัวขึ้น รวมทั้งเป็นการขยายตัวของจำนวนผู้มีงานทำทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรซึ่งครอบคลุมเกือบทุกสาขาการผลิต และส่งผลให้อัตราการว่างงานปรับตัวลดลงเป็นร้อยละ 0.9 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 และเป็นอัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบ 12 ไตรมาส เช่นเดียวกับฐานรายได้ในภาคเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ซึ่งคาดว่าฐานรายได้จากภาคการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่องจะขยายตัวเร่งขึ้น ในขณะที่ฐานรายได้ในภาคอุตสาหกรรม การส่งออก และฐานรายได้ภาคเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

(2) อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ

และ (3) การดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 เท่ากับการประมาณการจากครั้งก่อน และเร่งขึ้นจากร้อยละ 1.8 ในปี 2561 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณและอัตราการเบิกจ่ายที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น

ประการที่สอง การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.1 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน และเร่งขึ้นจากการขยายตัว ร้อยละ 3.8 ในปี 2561 การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.2 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน และเร่งขึ้นจากร้อยละ 3.3 ในปี 2561 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูงของกรอบวงเงินงบลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ร้อยละ 19.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.4 ในปีงบประมาณ 2561 รวมทั้งความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่สำคัญ ๆ ของภาครัฐที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและเข้าสู่กระบวนการก่อสร้างเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา คาดว่าจะทำให้การเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่มีกำหนดแล้วเสร็จและเริ่มเปิดให้บริการในช่วงปี 2563 - 2564

การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.7 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน และเร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในปี 2561 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก

(1) การเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตตามการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องแม้จะชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า และการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้อัตรากำลังการผลิตในปัจจุบันสูงกว่าร้อยละ 75.0 และกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนทิศทางการค้าระหว่างประเทศ

(2) ความคืบหน้าของมาตรการและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (PPP) ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน

(3) การปรับตัวดีขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2561 มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 901 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.8 โดยเฉพาะมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 137.4 คาดว่าจะมีโครงการส่วนหนึ่งเริ่มลงทุนในปี 2562

และ (4) การย้ายฐานการผลิตและการลงทุนของบริษัทต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีความยืดเยื้อและทวีความตึงเครียดมากขึ้น

ประการที่สาม  มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.1 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 7.7 ในปี 2561 เป็นการปรับลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุจากการปรับลดสมมติฐานราคาสินค้าส่งออกจากร้อยละ 1.0 - 2.0 ในการประมาณการครั้งก่อนเป็นร้อยละ 0.5 - 1.5 ตามการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ในขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน และเมื่อรวมกับการส่งออกบริการที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องตามรายรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ในปี 2561

ประการที่สี่  มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 14.3 ในปี 2561 และเป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 6.5 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เป็นผลจากการปรับลดสมมติฐานราคาสินค้านำเข้าจากร้อยละ 1.5 - 2.5 เป็นร้อยละ 1.0 - 2.0 ตามการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบซึ่งจะส่งผลให้ราคานำเข้าวัตถุดิบและราคาในหมวดเชื้อเพลิงลดลง ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 4.5 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามแนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินบาท และเมื่อรวมกับการนำเข้าบริการคาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 ในปี 2561

ประการที่ห้า  ดุลการค้า คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 20.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากการเกินดุล 23.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2561 และเมื่อรวมกับการเกินดุลบริการจากรายรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศคาดว่าจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 33.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือคิดเป็นร้อยละ 6.2 ของ GDP เทียบกับการเกินดุลร้อยละ 7.4 ของ GDP ในปี 2561

ประการที่หก เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2562 คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ  0.5 - 1.5 เทียบกับร้อยละ 1.1 ในปี 2561 และเป็นการปรับลดลงจากช่วงร้อยละ 0.7 - 1.7 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา สอดคล้องกับการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบและสมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยน

การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองกับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

ในที่สุดแล้วปี 2562  ปีเริ่มต้นทศวรรษใหม่แห่งความสดใสของประเทศไทยขึ้นกับปัจจัยความเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองอย่างมาก แม้ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งนี้มีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ในประเทศที่คาดว่าจะมีความต่อเนื่องในปี 2562 ทั้งในด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีตามการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้และการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ การลงทุนรวมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติซึ่งคาดว่าจะสามารถกลับมาสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น แม้กระนั้นก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงอย่างช้า ๆ ตามการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามวัฏจักรเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวเข้าสู่ช่วงขาลง ท่ามกลางความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าและความผันผวนในระบบการเงินโลก ในขณะที่บรรยากาศทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนยังมีความเสี่ยงที่จะอ่อนไหวตามบรรยากาศทางการเมืองและทิศทางการดำเนินนโยบายของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง แม้กระนั้นก็ตาม การปรับตัวของทิศทางทางการค้ามีแนวโน้มที่จะมีความชัดเจนมากขึ้นและเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนการส่งออก การผลิต และการลงทุนในสาขาที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า เพื่อชดเชยผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและยกระดับศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ภายใต้แนวโน้มดังกล่าว ไม่ว่าพรรคการเมืองหรือพลังการเมืองกลุ่มใด ฝ่ายใดได้อำนาจการบริหารประเทศผ่านการเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562  ยังต้องสนใจประเด็นการบริหารเศรษฐกิจมหภาคในปี 2562 ดังต่อไปนี้

ข้อที่หนึ่ง การขับเคลื่อนมูลค่าการส่งออกทั้งปีให้สามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.0  ทั้งนี้เพื่อรักษาพลวัตรการขยายตัวของฐานรายได้และการใช้จ่ายของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการให้ความสำคัญเพิ่มเติมกับ

(1) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งในตลาดสหรัฐฯ และตลาดจีน ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตทั้งในประเทศไทยและในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในประเทศไทย

(2) การให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าผ่านความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะสินค้าที่ส่งออกไปยังตลาดจีนเพื่อทำการผลิตต่อและส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ให้สามารถปรับเปลี่ยนทิศทางการส่งออกไปยังตลาดอื่นได้เร็วขึ้น

(3) การติดตามการเปลี่ยนแปลงของสินค้านำเข้าที่สำคัญ ๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าในสหรัฐฯ และจีน ซึ่งอาจเปลี่ยนทิศทางเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น

(4) การปฏิบัติตามกรอบกติกาการค้าโลก รวมทั้งข้อกำหนดและแนวทางการปฏิบัติในประเทศคู่ค้า และเงื่อนไขที่สำคัญ ๆ ในสหรัฐฯ ที่มีความเกี่ยวพันกับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ให้แก่ประเทศไทย รวมทั้งติดตามและศึกษาผลกระทบจากการที่ประเทศในภูมิภาคจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากกรอบข้อตกลงทางการค้าเพิ่มเติม เช่น กรอบข้อตกลงใช้ประโยชน์ EU GSP+ ในกรณีฟิลิปปินส์ และกรอบข้อตกลง FTA Vietnam-EU

(5) การเจรจาและขยายความร่วมมือทางการค้าโดยเฉพาะในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

และ (6) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการส่งออกบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และการบรรเทาผลกระทบของผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน โดยเฉพาะในตลาดจีนซึ่งเงินหยวนยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในช่วงของการอ่อนค่า

ข้อที่สอง การสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวให้สามารถกลับมาสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มศักยภาพต่อเนื่อง โดยการให้ความสำคัญกับ

(1) การดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ

(2) การให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทั้งในด้านชีวิตและทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง

(3) การส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลและกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูงในภูมิภาค รวมทั้งการขยายฐานนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

(4) การอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวและการลดความแออัดของนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ

(5) การกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวลงสู่เมืองรองและชุมชน

(6) การสร้างความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวของไทยกับประเทศที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ในภูมิภาค

และ (7) การรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวชาวไทยที่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ กลับมาท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้นเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของการใช้จ่ายและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศในช่วงที่การส่งออกสินค้าเริ่มมีข้อจำกัดและความเสี่ยงจากเงื่อนไขเศรษฐกิจโลกมากขึ้น

ข้อที่สาม การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ ทั้งนี้เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในช่วงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยให้ความสำคัญกับ

(1) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปีงบประมาณ 2562 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70.0 และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80.0

(2) การเร่งรัดกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ให้สามารถประกาศใช้ภายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ เพื่อป้องกันการลดลงของแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ

(3) การเตรียมความพร้อมให้กับแผนงาน โครงการที่สำคัญ ๆ ให้มีความพร้อมสำหรับการดำเนินการและการเบิกจ่ายได้ทันทีที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มีผลบังคับใช้

(4) การเบิกจ่ายและดำเนินโครงการลงทุนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

(5) การชี้แจงทำความเข้าใจกับนักลงทุนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและโครงการลงทุนที่สำคัญ ๆ หลังการจัดตั้งรัฐบาล

และ (6) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการยกระดับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ข้อที่สี่ การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย

(1) การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม

(2) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตทั้งในประเทศไทยและในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในประเทศไทยมากขึ้น

(3) การอำนวยความสะดวกและการชักจูงนักลงทุนในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าและอยู่ในช่วงของการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน ความพร้อมและขีดความสามารถในการแข่งขันของโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ความพร้อมและศักยภาพด้านพื้นที่เศรษฐกิจเพื่อรองรับการลงทุน

และ (4) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐทั้งในด้านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจที่มีความสำคัญ ๆ อย่างต่อเนื่อง

ข้อที่ห้า การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยและการสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเศรษฐกิจฐานราก โดย

(1) ด้านการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร ให้ความสำคัญกับ

(i) การดูแลปัญหาราคาสินค้าบางรายการที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยเฉพาะราคายางพาราซึ่งการฟื้นตัวยังมีข้อจำกัดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าที่ครอบคลุมสินค้ากลุ่มยานยนต์และผลิตภัณฑ์ยาง การฟื้นตัวของราคาปาล์มน้ำมันที่ยังมีข้อจำกัดจากสต็อกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง รวมทั้งแนวโน้มการปรับลดสัดส่วนเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มในสหภาพยุโรป และราคาอ้อยที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก

(ii) การขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ควบคู่ไปกับการเพิ่มส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตให้แก่เกษตรกร

(iii) การส่งเสริมการสร้างและจัดหาตลาด เพื่อเพิ่มช่องทางการระบายผลผลิตการเกษตรของเกษตรกรในแต่ละชุมชน

 (iv) การส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรรวมไปถึงการผลิตอาหารสดของเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าให้มากขึ้น

และ (v) การบริหารจัดการด้านทรัพยากรน้ำที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชในฤดูแล้ง เพื่อลดความเสี่ยงจากปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก

(2) ด้านการดูแลผู้มีรายได้น้อย เศรษฐกิจฐานราก และ SMEs โดยให้ความสำคัญกับ

(i) การดำเนินการตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

และ (ii) การดูแลให้มาตรการสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระการชำระหนี้และข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย วิสาหกิจชุมชน และ SMEs มีวงเงินที่เพียงพอและต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรที่ราคาผลผลิตยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว

(3) ด้านการให้ความช่วยเหลือและพัฒนา SMEs ที่ได้รับผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค โครงสร้างประชากร และความผันผวนของค่าเงิน ต้องให้ความสำคัญกับ

(i) การส่งเสริมให้ SMEs ใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการสินเชื่อ มาตรการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน และมาตรการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ของภาครัฐ

(ii) การส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงความรู้ที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการธุรกิจที่เป็นระบบให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะ SMEs กลุ่มที่เพิ่งจะเริ่มต้นทำธุรกิจ

(iii) การปรับปรุงการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาดของ SMEs ไปสู่การใช้เทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของตลาด และ (iv) การสร้างความเชื่อมโยง SMEs กับธุรกิจและการผลิตขนาดใหญ่

ข้อที่หก การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงาน ให้เพียงพอต่อการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสในการขยายตัวจากการย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศ และอุตสาหกรรมสำคัญที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ

สรุปประเด็นการบริหารเศรษฐกิจมหาภาคขึ้นกับภาคการเมือง (และพลังจากข้าราชการประจำ)  ดังนั้น การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม  2562  จึงมีผลต่อจุดเริ่มต้นปีแรกของทศวรรษที่สดใส  หากเริ่มต้นดี ก็มี “ชัยชนะไปกว่าครึ่ง”  หากเริ่มต้นไม่ดีพอ  ก็ต้องพยายามเพิ่มขึ้นให้มากกว่าเดิม

#