โอกาสอีกครั้งปรับปรุงสะพานปลากรุงเทพเทียบชั้นตลาดปลาซึกิจิ ประเทศญี่ปุ่น
  • 17 พฤษภาคม 2019 at 16:28
  • 1811
  • 0

ปลาอ่าวไทยยังอร่อย  อุตสาหกรรมประมงไทยยังอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก (แม้ว่าเรือประมงประสบปัญหาจนต้องเลิกจับปลาไปจำนวนมากกว่าหมื่นลำในช่วงปี 2560-2561) ปัจจัยนี้สนับสนุนให้สามารถพัฒนา “สะพานปลา”  ที่ใกล้เขตเมือง อย่างเช่น สะพานปลากรุงเทพ  ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีลักษณะเฉพาะตัว  มีแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ต้องการแสวงหาแหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง

 

เปิดโอกาสให้เช่า 30 ปีจากกรมธนารักษ์ พัฒนาสะพานปลากรุงเทพ

เรื่องนี้มาจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เรื่อง  โครงการพัฒนาสะพานปลากรุงเทพ (Bangkok Fish Market) (กษ.)

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความคืบหน้าผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  31 มีนาคม 2556 เรื่อง การพัฒนาสะพานปลากรุงเทพตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้กระทรวงการคลัง (กค.) ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)  ศึกษาความเหมาะสม ความจำเป็นและความเป็นไปได้ในการพัฒนาสะพานปลาในภาพรวมทั้งหมด รวมถึงการย้ายหรือพัฒนาสะพานปลากรุงเทพ และพิจารณาการใช้ประโยชน์จากสะพานปลาจังหวัดสมุทรปราการทั้งระบบ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานมีประเด็นสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. กค. ได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การสะพานปลา กรมธนารักษ์ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เพื่อดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในประเด็นที่เกี่ยวกับการพัฒนาสะพานปลารวม 3 ครั้ง (1 กุมภาพันธ์ 2560 27 มิถุนายน 2560 และ 7 ธันวาคม 2560) ซึ่งมีผลการดำเนินการในประเด็นที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบหมายสรุปได้ดังนี้

ประเด็นที่ ครม. มอบหมาย

การศึกษาความเหมาะสม ความจำเป็น และความเป็นไปได้ในการพัฒนาสะพานปลาในภาพรวม

สรุปผลการดำเนินการขององค์การสะพานปลา

จากการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ พบว่ามีความคุ้มค่าและเหมาะสมในการลงทุน (ผลตอบแทนการลงทุน (FIRR) ร้อยละ 19.35)

ประเด็นที่ ครม. มอบหมาย

การย้ายหรือพัฒนาสะพานปลากรุงเทพและพิจารณาการใช้ประโยชน์จากสะพานปลาสมุทรปราการทั้งระบบสรุปผลการดำเนินการขององค์การสะพานปลา

ปัจจุบันสะพานปลาสมุทรปราการไม่เหมาะสมในการดำเนินโครงการฯ เนื่องจากบริเวณรอบข้างของสะพานปลาสมุทรปราการเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมเหล็กและเคมีจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการปนเปื้อนสินค้าสัตว์น้ำและไม่สอดคล้องกับนโยบายด้านอาหารปลอดภัย

ประเด็นที่ที่ประชุมมอบหมาย

ให้กรมธนารักษ์แจ้งพื้นที่ในความครอบครองใช้ประโยชน์ของ กษ. เพื่อให้องค์การสะพานปลาคัดเลือกพื้นที่ใช้ประโยชน์ที่เหมาะสม

สรุปผลการดำเนินการขององค์การสะพานปลา

พื้นที่ที่กรมธนารักษ์ให้องค์การสะพานปลาคัดเลือกนั้น ไม่มีพื้นที่เหมาะสมในการดำเนินการจัดตั้งตลาดสะพานปลากรุงเทพแห่งใหม่

ประเด็นที่ที่ประชุมมอบหมาย

ให้องค์การสะพานปลาจัดทำประกาศรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ตลาดสะพานปลากรุงเทพคงอยู่ในพื้นที่เขตสาทรเช่นเดิมได้

สรุปผลการดำเนินการขององค์การสะพานปลา

ผลการสำรวจพบว่าประชาชนเห็นด้วยที่ให้องค์การสะพานปลาคงอยู่ที่ปัจจุบัน (เขตสาทร) ร้อยละ 97.75 (สำรวจความคิดเห็น ระหว่างวันที่ 27 กันยายน - 9 ตุลาคม 2560)

ประเด็นที่ที่ประชุมมอบหมาย

ให้องค์การสะพานปลาศึกษาข้อมูลโครงการ Fish Market Complex ว่ามีภาคเอกชนสนใจมาลงทุนหรือไม่ และภาคเอกชนที่มาร่วมลงทุนสามารถปฏิบัติตามระเบียบและเงื่อนไขของทางราชการได้หรือไม่

สรุปผลการดำเนินการขององค์การสะพานปลา

ไม่มีเอกชนรายใดให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุนในโครงการ Fish Market Complex

 

2. การประสานงานกับกรมธนารักษ์ในการพัฒนาพื้นที่สะพานปลากรุงเทพ

องค์การสะพานปลาได้เช่าที่ดินราชพัสดุกับกรมธนารักษ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานขององค์การสะพานปลา และได้ต่ออายุสัญญาการเช่ามาเป็นระยะต่อมาเมื่อปี 2561 กรมธนารักษ์ได้แจ้งให้ทราบว่าหากองค์การสะพานปลายังมีความประสงค์ที่จะใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุต่อไปอีก องค์การสะพานปลาต้องเสนอโครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุมีกำหนดระยะเวลาการเช่า 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2591 และต้องชำระค่าเช่าและค่าธรรมเนียมการจัดหาประโยชน์ตามที่กรมธนารักษ์เรียกเก็บ ดังนั้น องค์การสะพานปลาจึงได้จัดทำรายงานการศึกษาความเป็นไปได้โครงการพัฒนาสะพานปลากรุงเทพเบื้องต้น (Pre-Feasibility Study of Bangkok Fish Market) ซึ่งจากการศึกษาผลตอบแทนและความคุ้มค่าพบว่ามีผลตอบแทนที่ดีต่อผู้มีส่วนได้เสียของโครงการฯ และสภาพเศรษฐกิจโดยรวม

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 องค์การสะพานปลาได้นำเสนอโครงการพัฒนาสะพานปลากรุงเทพ (Bangkok Fish Market) ในที่ประชุมระหว่างองค์การสะพานปลาและกรมธนารักษ์ เพื่อกู้เงินสำหรับดำเนินโครงการฯ และเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ได้มีการประชุมคณะกรรมการองค์การสะพานปลา ครั้งที่ 2/2562 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการพัฒนาสะพานปลากรุงเทพและให้ดำเนินการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบในหลักการต่อไป

 

3. โครงการสะพานปลากรุงเทพ

กษ. ได้จัดทำโครงการพัฒนาสะพานปลากรุงเทพ (Bangkok Fish Market) เพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยตลาดกลางสัตว์น้ำและสินค้าสัตว์น้ำให้เป็นที่ยอมรับของประเทศผู้นำเข้าและส่งออกสัตว์น้ำ โดยมีที่ตั้งอยู่บนซอยเจริญกรุง 58 แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ใกล้ศูนย์กลางธุรกิจและติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่รู้จักของประชาชนและผู้ประกอบการประมง รวมทั้งมีอาคารสำนักงานและคอนโดมิเนียมทั้งที่สร้างแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการก่อสร้างจำนวนมาก จึงสามารถพัฒนาทั้งในเชิงธุรกิจและการท่องเที่ยวตามแนวคิดของโครงการฯ ที่เน้นความทันสมัย มีระบบการบริหารจัดการที่เป็นสากล และมีความเหมาะสมด้านกายภาพของสถานที่ตั้ง

เมื่อพัฒนาสำเร็จตามเป้าหมายจะสามารถลดปัญหาการส่งออกสัตว์น้ำที่ไม่ได้คุณภาพให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ ตลอดจนเป็นการสนับสนุนการส่งออกสินค้าประมงด้วยศูนย์บริการการส่งออก ณ จุดเดียว (One Stop Service) ซึ่งให้บริการทั้งด้านการตรวจรับรองคุณภาพและกระบวนการด้านพิธีการศุลกากร ทั้งนี้ ในด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โครงการฯ ได้พัฒนาระบบให้มีคุณภาพ มีการออกแบบการก่อสร้างอาคารและระบบบำบัดขยะและน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ ไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ

ทั้งนี้ จากการประสานเจ้าหน้าที่องค์การสะพานปลาเพิ่มเติม ได้รับแจ้งว่าในขั้นตอนต่อไปจะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) หลักเกณฑ์การวิเคราะห์โครงการของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอโครงการนี้ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

ข้อมูลเดิ่มเมื่อวันที่  7 มิถุนายน 2561  นายชวลิต ชูขจร อดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯในฐานะที่ปรึกษาบอร์ดองค์การสะพานปลา(อสป.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดเผยถึงการนำแผนปรับปรุงศักยภาพพื้นที่สะพานปลากรุงเทพบนเนื้อที่ 8 ไร่ ย่านยานนาวา ให้ทันสมัยเทียบเท่ากับตลาดกลางประมูลปลาของประเทศญี่ปุ่น วงเงินค่าก่อสร้าง 650 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปีเนื่องจากสภาพเก่าทรุดโทรมไม่ได้ปรับปรุงมากว่า 60 ปี มาเสนอต่อนายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรฯ

เพื่อนำเข้าครม.ซึ่งนายกฤษฏา ได้ให้แนวทางว่าควรไปหารือกับกระทรวงคลัง เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการต่อสัญญาเช่าที่ต่อไปอีก 30 ปีก่อน จึงมาวางแนวทางพัฒนาต่อไป ทั้งนี้รมว.เกษตรฯให้ทำรายละเอียดในการใช้เงินกู้ลงทุนของ อสป.เองโดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันกับธนาคารเพื่อจะได้เดินหน้าโครงการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะกรมธนารักษ์ จะเรียกที่คืน และที่ผ่านมาได้หารือกันมาเป็นระยะ โดยให้ย้ายสะพานปลา มาฝั่งตรงข้าม แนวเดียวกับคลังสินค้าของ อคส.หรือย้ายไปปากน้ำ ดังนั้นต้องเร่งหาแนวทางพัฒนาให้ได้

"แนวทางปรับปรุงดูความคุ้มค่า ซึ่งชาวประมง ไม่เห็นด้วยที่จะย้ายเพราะสะพานปลากรุงเทพ เป็นแหล่งอ้างอิงราคากลางสินค้าสัตว์น้ำ ดังนั้นเป้าหมายการพัฒนาเชิงโครงสร้างให้เป็นศูนย์รวมและกระจายสินค้าสัตว์น้ำ แหล่งยกระดับมาตรฐานสินค้าประมง จากเดิมมีพื้นที่ 16 ไร่ ได้คืนสำนักงานทรัพย์สินไป 8 ไร่ "นายชวลิต กล่าว

 

ข้อมูลจากนสพ. ไทยรัฐฉบับพิมพ์7 มิ.ย. 2561 :

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังหารือกับองค์การสะพานปลา (อสป.) ว่า ตนได้สั่งตีกลับแผนปรับปรุงโครงการพัฒนาสะพานปลากรุงเทพ วงเงิน 650 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าไม่สมควรใช้งบประมาณของรัฐบาลตามที่ อสป.เสนอขอมาที่กระทรวงเกษตรฯ เนื่องจาก อสป.เป็นหน่วยงานที่มีรายได้ และให้ อสป.ไปหารือกับกระทรวงการคลัง เรื่องการอนุมัติกู้ยืมเงิน โดยใช้สินทรัพย์ค้ำประกันเป็นที่ดินที่จังหวัดสมุทรปราการ หากกระทรวงการคลังเห็นชอบกับเเนวทางดังกล่าวค่อยกลับมาหารือกับตนอีกครั้งหนึ่ง

นายมานพ กาญจนบุรางกูร ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา (อสป.) กล่าวว่า โครงการพัฒนาสะพานปลากรุงเทพ จะใช้พื้นที่ของ อสป.ซึ่งเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ อยู่ติดริมน้ำเจ้าพระยา เขตสาทร จำนวน 8 ไร่ เพื่อพัฒนาสะพานปลาให้เป็นศูนย์กลางตลาดสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมงไทย ตามมาตรฐานสากล รวมทั้งยกระดับมาตรฐานสุขอนามัย ในส่วนของตลาดกลางสัตว์น้ำและสินค้าสัตว์น้ำ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค และพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนกรุงเทพฯ เหมือนกับตลาดปลาซึกิจิ ประเทศญี่ปุ่น

#