เร่งผลักดันเศรษฐกิจพิเศษ ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 10 เป็นเวลาสิบปี
  • 17 พฤษภาคม 2019 at 16:52
  • 968
  • 0

 

รัฐบาลเดินหน้าต่อเนื่อง ผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ  หวังกระจายความเจริญไปชายแดนทั่วประเทศ  สร้างจุดแข็งให้จังหวัดชายแดนมีพลังดึงดูดเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน

 

ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 เป็นเวลาสิบปีหนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ

รายละเอียดเรื่องนี้อยู่ใน มติคณะรัฐมนตรีวันที่  14  พฤษภาคม 2562  เรื่อง  ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ)               ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

เป็นการขยายเวลาการจดแจ้งการขอใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการประกอบกิจการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ  โดยกำหนดให้มีการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากอัตราร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 เป็นเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสำหรับกำไรสุทธิจากรายได้ที่เกิดจากการผลิตสินค้าหรือการให้บริการและมีการใช้บริการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว ทั้งนี้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ได้จดแจ้งการขอใช้สิทธิการเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังรายงานว่า มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษข้างต้น คาดว่าจะมีภาษีสูญเสียประมาณ 4 ล้านบาท แต่จะช่วยส่งเสริมการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ช่วยให้มีการผลิตสินค้าและบริการในพื้นที่จังหวัดชายแดนเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านให้เพิ่มขึ้น และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ข้อมูลเพิ่มเติม

การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนของประเทศไทย เริ่มจากการผลักดันของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ภายใต้กลยุทธ์ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากโครงการระเบียงเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ. 2541 โดยกำหนดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนใส่ในแผนปฏิบัติการเพื่อการเปลี่ยนระเบียงการขนส่ง (Transport Corridors) ให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridors)2

ต่อมาวันที่ 31 มี.ค. 2556 มติคณะรัฐมนตรีมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ3   เพื่อนำนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่นำทางในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

หลังจากนั้น ปี 2557 ประเทศไทยโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อสร้างฐานการผลิตเชื่อมโยงกับอาเซียนและพัฒนาเมืองชายแดน และได้มีคําสั่งที่ 72/2557 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2557 แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) โดยมีหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นประธาน มี สศช. เป็นฝ่ายเลขานุการ และมีคณะอนุกรรมการหลักๆ อีก 6 คณะ ทําหน้าที่ขับเคลื่อนงานด้านต่างๆ ที่เป็นหัวใจสําคัญของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่4

ในปีถัดมา มีประกาศกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตามหลักเกณฑ์และจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ชายแดนที่มีศักยภาพและเหมาะสมพัฒนาเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 10 จังหวัด โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ

ระยะแรก 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด และสงขลา ประกอบด้วย 10 อำเภอ 36 ตำบล (เริ่มดำเนินการได้ในปี 2558)

ระยะที่สอง 5 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี ประกอบด้วย 12 อำเภอ 55 ตำบล (เริ่มดำเนินการในปี 2559)

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้กำหนดแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญให้เกิดการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคโดยใช้โอกาสจากอาเซียน ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่บริเวณชายแดน รวมทั้ง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

การดำเนินงานมีการเน้นสิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน กรณีกิจการทั่วไปตามประกาศ กกท. ที่ 2/2557 และกรณีกิจการเป้าหมายตามที่ กนพ. กำหนด ซึ่งกิจการเป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุน มี 13 กลุ่มกิจการ 62 ประเภทกิจการย่อย และภายหลังได้ให้ความเห็นชอบเพิ่มเติมอีก 10 ประเภทกิจการย่อย  สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เช่น มาตรการด้านภาษีและสินเชื่อ  สิทธิประโยชน์ด้านการเช่าที่ดินในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

นอกจากนี้เพิ่มเติมการบริหารจัดการให้การลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษได้รับความสะดวกมากขึ้น เช่น 

การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (OSS) ในแต่ละพื้นที่

การจัดระบบแรงงานข้ามชาติ ให้สามารถเข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย ตาก และกาญจนบุรี

นอกเหนือจากนี้ภาครัฐได้เร่งรัดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร ช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดการขยายตัวของการค้าชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในระยะ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาและในอนาคต8

การจัดทำผังเมืองรวมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน  มีการจัดทำผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ผังคมนาคมขนส่ง รวมทั้งการออกแบบการกำหนดโซนนิ่งระดับย่าน พร้อมวางระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ให้สอดคล้องกับพื้นที่และสอดคล้องกับโอกาสขยายตัวในอนาคต

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนล่าสุด(ข้อมูลปี 2561)  มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 8 จังหวัด จำนวน 52 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 9,059 ล้านบาท โดยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากเป็นพื้นที่ศักยภาพการลงทุนสูงที่สุด จำนวน 28 โครงการ ซึ่งเกี่ยวกับเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์พลาสติก อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน เป็นต้น รองลงมาคือ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา สระแก้ว และมุกดาหาร

การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อประสบความสำเร็จละทำให้จังหวัดชายแดนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษประสบความสำเร็จ ย่อมทำให้พลังเศรษฐกิจของพื้นที่ชายแดนฝั่งไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น  และมากกว่าพื้นที่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกัน  ใกล้เคียงกัน  เมื่อพลังเศรษฐกิจเหนือกว่า ย่อมสามารถดึงดูดทรัพยากรต่างๆ มาร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนระหว่างประเทศเพื่อนบ้านได้ดีขึ้น  และสร้างประโยชน์ร่วมกันได้มากขึ้น โดยประเทศไทยสามารถมีพลังในการบริหารจัดการได้มากกว่า

#