ระบบรางทางคู่ควรเสร็จทั่วไทย รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนครบทุกสาย ตามด้วยรถไฟความเร็วสูง
  • 5 กรกฎาคม 2019 at 23:19
  • 1642
  • 0

การมีแผนยุทธศาสตร์โดยทั่วไปเป็นเรื่องดี แต่ดียิ่งขึ้นหากสามารถทำได้ตามยุทธศาสตร์นั้น

ดังเช่น  ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ทำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนผ่านแผนปฏิบัติการ (Action Plan) รายปี โดยในปี 2562 มี 41 โครงการ กรอบวงเงินลงทุนกว่า 1.77 ล้านล้านบาท

ที่ยังติดๆ ขัดๆ  ไม่เพียงมีอุปสรรคเกิดขึ้นตามธรรมชาติของโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ซึ่งต้องผ่านพื้นที่หลากหลาย “ปัญหาการส่งมอบพื้นที่” แทบเป็นสาเหตุของทุกโครงการ

กระนั้นก็ตามยังมีเหตุล่าช้าจากการขาดช่วงของคณะรัฐบาล ดังเช่นที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 24  มีนาคม  2562  จนถึงต้นเดือนกรกฎาคม  2562 แม้มุ่งหวังกันว่ารัฐบาลใหม่ โดยนายกรัฐมนตรีคนเก่า พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชาจะสามารถตั้งขึ้นได้ในเดือนกรกฎาคม 2562  และเดินหน้าเมกะโปรเจคด้านโครงสร้างพื้นฐานได้ทันที  แต่ก็สมควรหยิบยกโครงการสำคัญๆ มากล่าวถึงเพื่อสร้างความเข้าใจถึงผลลัพธ์ที่ดีต่างๆ

ควรให้น้ำหนักที่มากกว่ากับรถไฟทางคู่

โครงการสำคัญในการยกระดับพัฒนาระบบรางของประเทศไทยที่สำคัญคือ โครงการรถไฟทางคู่  ทั้งนี้มีส่วนที่ดำเนินการไปแล้งคือโครงการรถไฟทางคู่เฟสแรก 7 เส้นทางรวมระยะทาง  993 กิโลเมตร วงเงินลงทุนกว่า 1.18 แสนล้านบาท   โครงการรถไฟทางคู่เฟสแรก 7 เส้นทางดังกล่าวอยู่ระหว่างการก่อสร้างกำหนดทยอยแล้วเสร็จปี  2562  - 2566

โครงการรถไฟทางคู่เฟสแรก 7 ได้แก่ เส้นทาง  “ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย” แยกงานก่อสร้างออกเป็น 2 สัญญา งานสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างทางรถไฟช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-วิหารแดง และช่วงบุใหญ่-แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง  สัญญาที่ 2 งานสร้างทางรถไฟช่วงวิหารแดง-บุใหญ่ พร้อมอุโมงค์ลอดใต้เขาพระพุทธฉาย  เส้นทาง “ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น”  ลพบุรี-ปากน้ำโพ, มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ, นครปฐม-หัวหิน, หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร

ส่วนรถไฟทางคู่เฟส 2 อีก 8 โครงการ ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร เงินลงทุนกว่า 2.72 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ในขั้นตอนจัดทำรายละเอียดเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณา หลังจากนั้นจึงเสนอ ครม.ชุดใหม่ 

ทั้งนั้นนี้แผนงานกำหนดว่าสามารถเปิดประมูลก่อสร้าง รถไฟทางคู่ เฟส 2 ปี 2562  ได้ 4 เส้นทาง ได้แก่

ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. มูลค่าโครงการ 85,345.00 ล้านบาท

ช่วงบ้านไผ่ - มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. มูลค่าโครงการ 66,848.33 ล้านบาท

ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 169 กม. มูลค่าโครงการ 26,663.26 ล้านบาท

ช่วงชุมทางถนนจิระ -อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. มูลค่าโครงการ 37,527.10 ล้านบาท

ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินงานเพื่อก้าวสู่ขั้นตอนการประมูลได้แก่

ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 ก.ม. วงเงินแต่เดิม  62,883.55 ล้านบาท อาจมีการปรับปรุงใหม่

ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี 168 ก.ม. วงเงินแต่เดิม 24,294.36 ล้านบาท อาจมีการปรับปรุงใหม่

ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา 324 ก.ม. วงเงินแต่เดิม 57,375.43 ล้านบาท อาจมีการปรับปรุงใหม่

ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 45 ก.ม. วงเงินแต่เดิม 8,120.12 ล้านบาท  อาจมีการปรับปรุงใหม่

 

ภาพหวังก็คือ เส้นทางรถไฟแต่เดิมของไทยขนาดราง 1 เมตร สามารถยกระดับพัฒนาขั้นต่ำเป็นทางคู่ทุกเส้นทาง และตลอดเส้นทาง ทำให้ลดการรอหลีกขบวนรถขาขึ้นและขาล่องลงได้  นอกจากนี้ในหลายช่วงย่อมพัฒนาเป็น  4  ทาง  5 ทางตามความจำเป็น และหวังได้ว่า  รถไฟขนาดราง 1 เมตรสามารถพัฒนาเป็น 4 ทาง แยกขบวนผู้โดยสารและขนส่งสินค้าออกจากกัน  แบ่งเส้นทางขึ้น-ล่องออกจากกัน  ย่อมเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรางอย่างมาก

อย่างไรก็ตามฐานะเศรษฐกิจของไทยนั้น “มีเงินงบประมาณจำกัด” การดำเนินโครงการรถไฟทางคู่จึงมีเร็ว-ช้า-หนัก-เบาแตกต่างกันไป ดังเช่น การที่  วรวุฒิ มาลา” รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทนผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. ได้กล่าวว่า การลงทุนรถไฟทางคู่เฟส 2 คาดว่ารัฐบาลอาจจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งแตกต่างจากรถไฟทางคู่ระยะแรกที่มีการอนุมัติพร้อมกัน ทั้งนี้เพื่อทยอยการลงทุน ซึ่งอาจอนุมัติโดยดูเส้นทางที่ทำให้ครบโครงข่าย โดยเฉพาะเส้นทางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อาจได้รับการอนุมัติก่อน เนื่องจากเป็นเส้นทางที่เชื่อมการขนส่งโดยเฉพาะการขนส่งสินค้าจากหนองคาย นครพนม อุบลราชธานี มายังชุมทางถนนจิระ แก่งคอย เพื่อส่งต่อไปยังท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง

รถไฟทางคู่ย่อมมีส่วนยกระดับพัฒนาเศรษฐกิจตามหัวเมืองต่างจังหวัดได้ทั่วถึงมากขึ้น

ระบบรางชานเมือง และรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน

การขนส่งระบบรางชานเมืองที่ควรได้รับการเร่งรัดดำเนินการคือ รถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย3 สายที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไปแล้วมูลค่ารวม 23417.61 ได้แก่

สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา

และสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช

ทั้งสามโครงการนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมเปิดประมูล

ในส่วนโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีความคืบหน้าใกล้ระดับเปิดประมูลได้คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กม. เงินลงทุนค่างานโยธา 96,012 ล้านบาท ค่าระบบและรถไฟฟ้ากว่า 3.5 หมื่นล้านบาท 

และส่วนสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. เงินลงทุน 101,112 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนการเตรียมประมูลก่อสร้าง โดย รฟม.ตั้งเป้าจะประกวดราคาก่อสร้างในช่วงปลายปี 2562

มองภาพรวมกับโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและย่อมทยอยเปิดบริการได้แก่  โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-ท่าพระ-บางซื่อ  รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายหัวลกโพง-บางแค

โครงการรถไฟฟ้ารางเบาสายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง  และสายสีชมพูแคราย-มีนบุรี

รัฐบาลใหม่ควรสร้างหวัง  ทำให้โครงการระบบรางเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นจริง  ใช้งานได้ตามกำหนดเวลา 

ต้นทาง-ระหว่างทาง-ปลาย ควรศักยภาพใกล้เคียงกัน

เมื่อพิจารณาตามหลักยุทธศาสตร์พัฒนาระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาเศรษฐกิจเมืองต่างๆ  ให้มีระดับใกล้เคียงกัน (ไม่เขย่งแตกต่างกันมาก  จนเป็นแรงดูดรวมส่วนเกินทางเศรษฐกิจมาสะสมที่เมืองใหญ่) การพัฒนารถไฟทางคู่  การสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน อู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ-ดอนเมืองที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)  ที่ควรดำเนินการให้รวดเร็ว  ควรให้เสร็จครบถ้วนมากที่สุด และแล้วเสร็จเปิดใช้งานก่อนรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมโยงกับประเทศจีน

เพื่อสร้างระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจในประเทศให้ “แข่งขัน” กับจีน  มีพลังดึงดูดทางเศรษฐกิจมากกว่าเมืองของประเทศเพื่อนบ้าน

นั่นคือศักยภาพทางเศรษฐกิจของระบบรางต่างๆ นั้นทั้งต้นทาง-ระหว่าง-ปลายทางนั้นควรไม่แตกต่างกันมาก และต้องส่งเสริมกันและกัน มิใช่เกิดการดูดรวมส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากปลายทาง  ระหว่างทาง  มาสู่ต้นทาง

หากเกิดความแตกต่างกันมากผลกระทบในหลายๆ เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจากการเปิดใช้เส้นทางสายเอเชียเชื่อมโยงจีนตอนใต้กับประเทศไทย ทำให้ขบวนรถขนส่งสินค้าต่าง ๆ ใส่ตู้คอนเทนเนอร์ทะลวงเข้ามาถึงตลาดไท  เข้าถึงย่านขายส่งสินค้าต่างๆ   โกดังขายสินค้าออนไลน์(สินค้าของจีน)  ผลกระทบจากโลจิสติกส์ระบบถนนระหว่างประเทศที่สมบูรณ์มากขึ้น  ขณะที่การผลิตต่างๆ ทั้งระบบโรงงานและเกษตรกรรมของไทยไม่สามารถ “แข่งขัน” กับจีนได้ มีปัญหา อย่างที่มีรายงานข่าวเกิดขึ้นเป็นประจำนั้น   จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า

มีแต่สร้างพลังเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เข้มแข็งเท่านั้นถึงเพิ่มโอกาสการยืนเทียมบ่าเทียมไหล่กับประเทศอื่นๆ ได้อย่างมีศักดิ์ศรีเสมอกัน

(เรื่องเกี่ยวกับบางซื่อฮับ  /การพัฒนาเมืองใหม่พร้อมกับระบบโลจิสติกส์จะเขียนถึงในโอกาสต่อไป)

#