“ภารกิจตกค้าง” –ภารกิจเร่งด่วน? กระทรวงคมนาคม และ “ความเสี่ยงทางการเมือง”
  • 8 กรกฎาคม 2019 at 21:18
  • 1292
  • 0

กระทรวงคมนาคมมียุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) เฉพาะหน้าในปี 2562 กระทรวงคมนาคมได้ทำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนผ่านแผนปฏิบัติการ (Action Plan) 41 โครงการ กรอบวงเงินลงทุนกว่า 1.77 ล้านล้านบาท  หลายโครงการยังเป็นภารกิจตกค้างที่สมควรเร่งรัดดำเนินการ (มากกว่าการรื้อ-ทบทวน)  เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้ก้าวไปรองรับแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม 

มอเตอร์เวย์  3  สาย เสริมศักยภาพโลจิสติกส์อาเซียน

ทางด่วนระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์ที่กรมทางหลวงเป็น “เจ้าภาพ” ดำเนินงาน มีโครงการทางด่วนระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์ที่ได้รับอนุมัติไปแล้ว 3 โครงการ ประกอบด้วย สายบางปะอิน-นครราชสีมา  สายบางใหญ่-กาญจนบุรี  และสายพัทยา-มาบตาพุด

โครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา (ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6)  อยู่ระหว่างก่อสร้างกำหนดแล้วเสร็จเปิดบริการปี 2564 โครงการนี้แนวเส้นทางส่วนใหญ่ขนานไปกับถนนพหลโยธินและถนนมิตรภาพ แบ่งเป็น 2 ตอน ได้แก่ บางปะอิน-ปากช่อง ระยะทาง 103 กิโลเมตร และปากช่อง-นครราชสีมา ระยะทาง 93 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 196 กิโลเมตร

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี หรือทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข M81  มีระยะทางรวมประมาณ 96 กิโลเมตร เริ่มต้นที่จุดตัดทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ด้านตะวันตกกับถนนรัตนาธิเบศร์ บริเวณทางแยกต่างระดับบางใหญ่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี และไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 324 (ถนนกาญจนบุรี-อ.พนมทวน) อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการ  โครงการนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างเช่นกัน  แม้ว่ามีปัญหาเพิ่มเกี่ยวกับค่าเวนคืนที่เพิ่มขึ้น

แต่ในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) มอเตอร์เวย์สองโครงการดังกล่าวจัดทำในรูปแบบ PPP Gross Cost  ทั้งนี้กรมทางหลวงได้จัดประมูลพร้อม  2 เส้นทางคือมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราชและมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี

หลักการคือเอกชนผู้ออกแบบและลงทุนก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง งานบำรุงรักษาของโครงการทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนลงทุนทั้งหมด รวมถึงเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง

เอกชนได้รับค่าตอบแทน (Availability Payment: AP) เป็นเงินค่าก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง ค่าบำรุงรักษา และค่าบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียม รวมทั้งงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามขอบเขตและเงื่อนไขที่กำหนด ภายในกรอบวงเงินที่เป็นมูลค่าปัจจุบัน ไม่เกิน 33,258 ล้านบาท

แผนงานหาเอกชนมาร่วมทำงานในรูปแบบ PPP Gross Cost  คือ กรมทางหลวงได้ประกาศเชิญชวนเอกชนที่สนใจเข้าร่วมประกวดข้อเสนอตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ถึงวันที่ 27 มีนาคม 2562 จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการประเมินข้อเสนอและเจรจาต่อรองสัญญา ตรวจร่างสัญญาและเสนอขออนุมัติผลการคัดเลือก ตลอดจนลงนามในสัญญาร่วมเพื่อให้ได้เอกชนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนดของกรมทางหลวงภายในเดือนธันวาคม 2562

ทั้งนี้มีเอกชนซื้อเอกสารข้อเสนอร่วมลงทุนฯ (RFP) สาย บางปะอิน-นครราชสีมาแล้ว จำนวน 10 ราย ประกอบด้วย 1.บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง 2.บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 3.บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ 4.บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ 5.บจก.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 6.บจก.ซีวิลเอนจิเนียริ่ง 7.บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 8.บจก.สี่แสงการโยธา (1979) 9.บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ และ 10.บมจ.ช.การช่าง

เมื่อถึงวันที่  27 มิถุนายน 2562 มีการยื่นซองประมูล 3 กลุ่มประกอบด้วย

หนึ่ง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ  BEM  ทั้งนี้ BEM เป็นบริษัทลูกของ บมจ.ช.การช่าง ยักษ์ใหญ่หนึ่งในสามอันดับแรกของอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศไทย

สอง กลุ่มกิจการร่วมค้า UN-CCCC  ประกอบด้วย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บจ.ไชน่า คอมมูนิเคชั่น คอนสตรัคชั่น จากประเทศจีน   “ยูนิค” เป็นบริษัทใหญ่อันดับสี่ในอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างของไทย ส่วน“CCCC” คือยักษ์วิสาหกิจจากจีนและเป็นบริษัทแม่ของรับเหมาไชน่าฮาร์เบอร์ ที่มีประสบการณ์บริหารทางด่วนและมอเตอร์เวย์ให้กับประเทศจีนมาขย่มขวัญคู่แข่ง  กลุ่มกิจการร่วมค้า UN-CCCC นั้น “ยูนิค” ถือหุ้น 51% CCCC ถือหุ้น 49%

สาม กลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์” ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง สัดส่วนการถือหุ้นคือบีทีเอสลงขัน 40% กัลฟ์ 40% ซิโน-ไทยฯ 10% และราชบุรีโฮลดิ้ง 10%

แผนการดำเนินงานของกรมทางหลวงคือ พิจารณาข้อเสนอเอกชนและต่อรองสัญญาในเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม 2562 กำหนดขออนุมัติพร้อมลงนามสัญญา ร่วมทุนในเดือนธันวาคม  2562

การลงทุนมี 2 ระยะ ประกอบด้วยระยะที่ 1 เอกชนออกแบบ ลงทุนก่อสร้างงานระบบและอื่น ๆ โดยบางปะอิน-โคราช ลงทุน 7,965 ล้านบาท บางใหญ่-กาญจนบุรี 6,089 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี

ระยะที่ 2 เอกชนดำเนินการจัดเก็บค่าผ่านทางและบำรุงรักษาตลอด 30 ปี ตลอดอายุสัญญากำหนดได้รับผลตอบแทนไม่เกิน 61,088 ล้านบาทตลอดอายุสัญญา โดยสายบางปะอิน-โคราช ไม่เกินจำนวน 33,258 ล้านบาท และบางใหญ่-กาญจนบุรี ไม่เกินจำนวน 27,828 ล้านบาท

การเปิดบริการสายบางปะอิน-นครราชสีมารูปแบบปลายปี 2565-2566 แต่หากการก่อสร้างเสร็จก่อนงานระบบเก็บค่าบริการเสร็จสมบูรณ์จะเปิดให้ใช้ฟรีไปก่อนในปี 2564  ส่วนโครงการมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ยังติดเรื่องเวนคืนอาจจะเปิดเต็มรูปแบบในปี 2567-2568

ความคืบหน้ามอเตอร์เวย์หมายเลข 7 สาย (กรุงเทพฯ-บ้านฉาง) ช่วงพัทยา-มาบตาพุดนั้นสามารถกำหนดการเปิดใช้บริการได้ราวเดือนเมษายน 2563

งานที่เปิดรอยต่อระหว่างการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในกรณีมอเตอร์เวย์ก็คือ งานในส่วนการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี  และน่าหวังได้ว่าไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เกิดขึ้น

จุดสำคัญของมอเตอร์เวย์ 3 สายดังกล่าวเป็นการเสริมศักยภาพโลจิสติกส์ไทยให้รองรับพัฒนาการทางเศรษฐกิจในประเทศ และการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ-ธุรกิจของประเทศอาเซียน

ภารกิจตกค้าง-ภารกิจเร่งด่วน กระทรวงคมนาคมในรัฐบาลใหม่

โครงการตกค้าง และควรได้รับการบริหารจัดการอย่างเร่งด่วน ยกตัวอย่างเฉพาะโครงการสำคัญโครงการขนาดใหญ่ได้ดังนี้

มอเตอร์เวย์สายใหม่ และที่พักริมทางมอเตอร์เวย์ที่เข้าคิวรออนุมัติ ได้แก่  มอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ มูลค่าเงินลงทุนรวม 79,006 ล้านบาท

มอเตอร์เวย์สายหาดใหญ่-ชายแดน/มาเลเซีย มูลค่า 37,470 ล้านบาท

ทางยกระดับ อุตราภิมุข (ขยายดอนเมืองโทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน 29,269.97 ล้านบาท

และทางยกระดับบนถนนพระราม 2 ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว 32,285 ล้านบาท

ที่พักริมทาง มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา 1,579.88 ล้านบาท

ศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา ช่วงชลบุรี-พัทยา 1,504 ล้านบาท

สถานที่บริการทางหลวงบางละมุง 620 ล้านบาท

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย มีโครงการใหม่ที่เตรียมนำเสนอ ครม. คือ

สายกระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กม. เงินลงทุน 14,177.22 ล้านบาท

และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และ E-W corridor ด้านตะวันออก วงเงินลงทุน 14,382 ล้านบาท

เบื้องต้น กทพ.  วางแผนใช้เงินลงทุนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) หรือTFF

นอกจากนี้ยังมีงานใหญ่ที่มีผลต่อการพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางอากาศที่ตกค้างอยู่ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ โครงการอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงินโครงการ 4.2 หมื่นล้านบาท  โครงการนี้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ถูกวิพากษ์วิจารณ์การประมูลออกแบบ และการปรับแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิทำให้ “แผนแม่บท”  การพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิล่าช้าออกไป

“ความเสี่ยงทางการเมือง”

“ความเสี่ยงทางการเมือง” รวมความถึงความเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาล  รัฐมนตรีว่าการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานต่างๆ  ที่เกี่ยวข้อง     ทั้งนี้ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนโปรเจกต์ภายใต้การกำกับของ รมว.คมนาคมนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  ได้ใช้นโยบาย One Transport โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2561-2565) วงเงินลงทุนรวม 1,714,241 ล้านบาท โครงการส่วนใหญ่ดำเนินการเห็นเป็นรูปธรรม และบางโครงการใกล้แล้วเสร็จ

ระยะที่ 2 โครงการที่ดำเนินการในปี 2566-2570 วงเงินลงทุนรวม 636,863 ล้านบาท

ระยะที่ 3 ดำเนินการในปี 2571-2575 วงเงินลงทุนรวม 418,121 ล้านบาท

ระยะที่ 4 ดำเนินการในปี 2576-2580 วงเงินลงทุนรวม 318,436 ล้านบาท

ในเมื่อโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นของพรรคภูมิใจไทย  รัฐมนตรีช่วยว่าการเป็นโควตาพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ นั่นคือ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ (ภท.) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายถาวร เสนเนียม (ปชป.) เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ (พปชร.) เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

“ความกังวลใจ” อาจเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แม้ว่าการทำงานย่อมมีการปรับเปลี่ยนเป็นเรื่องธรรมดาเช่นกัน  เพียงแต่ว่าเปลี่ยนแล้วดีขึ้นมากน้อยเพียงใด  หรือไม่ได้เปลี่ยนมาก  แต่เร่งรัดให้ประสบผลสำเร็จตามแผนงานให้รวดเร็วมากขึ้น

ความหมายก็คือ ควรเน้นการบริหารจัดการยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ให้ดีที่สุด ควรเป็นภารกิจเร่งด่วนมากกว่าการรื้อหรือจัดทำใหม่

การสร้างความพร้อมทางด้านคมนาคมขนส่ง เป็นเรื่องสำคัญของการยกระดับพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทย และเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกหลายโครงการ  การทำให้สำเร็จใช้งานได้ตามแผนงานและสอดคล้องกับแผนงานอื่นๆ จึงสำคัญยิ่ง  และมีผลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างที่มิควรทำให้มีอุปสรรคจาก “ความเสี่ยงทางการเมือง” เกิดขึ้น

#