ทุ่ม 2 ล้านล้านบาทเร่งงานโครงสร้างพื้นฐานกระตุ้นเศรษฐกิจไทยทั่วด้าน
  • 22 กันยายน 2019 at 14:50
  • 1134
  • 0

ครม.เศรษฐกิจติดตามความคืบหน้า โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 44 โครงการ หารือปลดล็อกอุปสรรคเพื่อเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ

นายกรัฐมนตรีประชุม ครม.เศรษฐกิจ ครั้งที่ 3/62 (วันที่ 20 กันยายน 2562)  พิจารณารายละเอียดรถไฟฟ้าสายสีส้ม เร่งรัดโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่  สั่งกระทรวงคมนาคมหารือปลดล็อกเรื่องที่เป็นอุปสรรคเพื่อเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ การใช้จ่ายลงทุน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ

 

พลังขับเคลื่อนจากนายกรัฐมนตรี

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ครั้งที่ 3/2562 ร่วมกับรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยภายหลังการประชุม นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กรรมการและเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ แถลงผลการประชุม ครม.เศรษฐกิจ สรุปสาระสำคัญ ว่า  ที่ประชุมได้หารือเรื่องสืบเนื่องจากการประชุม ครม.เศรษฐกิจครั้งที่ผ่านมา ที่นายกรัฐมนตรีขอดูรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องมาตรการส่งเสริมการลงทุน และรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติในลักษณะ Flowchart  ให้ชัดเจน และให้เห็นถึงความสืบเนื่องของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกัน

จากนั้น ในวาระเพื่อพิจารณา การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ได้ร่วมกันนำเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ในส่วนที่เป็นภาคตะวันตกของสายสีส้ม เริ่มตั้งแต่บางขุนนนท์ถึงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วงเงิน 122,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นโครงการที่มีวงเงินลงทุนจำนวนมาก นายกรัฐมนตรีต้องการให้มีการหารือในรายละเอียดของโครงการโดยละเอียดระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป

ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันอย่างที่มีความชัดเจนขึ้นมาก โดยรายละเอียดที่มีความกังวลใจในบางเรื่องก็ได้รับการดูแลอย่างเรียบร้อย รวมทั้งมีการหารือใกล้ชิดกับสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้มีการหารือเพิ่มเติมอีกครั้งประมาณสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป รถไฟฟ้าสายสีส้มถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและความสะดวกสบายของประชาชนมาก คาดว่าในช่วงแรกที่เปิดบริการ จะมีจำนวนผู้โดยสารจากฝั่งภาคตะวันออกของสายสีส้มประมาณ 121,000 คนต่อวัน ในช่วงที่ก่อสร้างสายตะวันตกเชื่อมกับสายตะวันออกเสร็จสิ้นในปี 2569 คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 500,000 คนต่อวัน

 

วงเงินลงทุนรวมร่วม 2 ล้านล้านบาท

กรรมการและเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ยังได้หารือเรื่องความคืบหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ของกระทรวงคมนาคม ใน 4 ประเภทรวม 44 โครงการ วงเงินรวม 1,947,310 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน 259,791 ล้านบาท เงินกู้ 1,201,056 ล้านบาท PPP 338,810 ล้านบาท และเป็นรายได้/กองทุน 147,654 ล้านบาท ประกอบไปด้วย

1) โครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 17 โครงการ วงเงิน 782,329 ล้านบาท

2) โครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการ 12 โครงการ วงเงิน 412,739 ล้านบาท

3) โครงการที่คณะกรรมการ PPP เห็นชอบแล้ว และ สคร. เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี 2 โครงการ วงเงิน 201,073 ล้านบาท

และ 4) โครงการที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีในระยะต่อไป 13 โครงการ วงเงิน 551,170 ล้านบาท

“ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงเรื่อย ๆ เศรษฐกิจไทยก็ได้รับผลกระทบ ล่าสุดตัวเลขการส่งออกก็ได้รับผลกระทบอีก 1 เดือน ครม.เศรษฐกิจมองว่า หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้จ่ายและเรื่องของการลงทุน ซึ่งในเรื่องการลงทุน หากเร่งรัดได้โดยเฉพาะการลงทุนของกระทรวงคมนาคม ก็จะนำไปสู่การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ การใช้จ่ายลงทุนต่าง ๆ รวมไปถึงเรื่องการสร้างงาน การใช้วัตถุดิบต่าง ๆ ครม.เศรษฐกิจวันนี้จึงได้หารือร่วมกันถึงเรื่องที่เป็นอุปสรรคที่จะต้องมีการปลดล็อก เรื่องที่ดำเนินการได้ตามแผนที่ไม่มีอะไรต้องกังวลใจ รวมถึงเรื่องที่ล่าช้าด้วย” นายกอบศักดิ์กล่าว

กรรมการและเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า บางโครงการที่พบว่าติดขัด ติดอุปสรรค เช่น กรณีของโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี มีปัญหาเรื่องค่ากรรมสิทธิ์ต่าง ๆ ที่ต้องของบประมาณเพิ่มเติม หรือด่านที่ทำเรื่องการขนส่งสินค้าที่เชียงของ ที่จะมีเรื่องค่าตอบแทน สปก. เป็นต้น รวมถึงบางโครงการที่เคยคุยกันมานานแล้ว เช่น โครงการ Roadside station ที่เชื่อมกับนครปฐม-ชะอำ ยังติดอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งทั้งหมดนี้ ครม.เศรษฐกิจรับทราบ และได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการติดตามขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ของ ครม.เศรษฐกิจไปร่วมกันประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อปลดล็อกให้อุปสรรคเหล่านั้นคลี่คลาย เพื่อให้ประเทศไทยมีโครงการต่าง ๆ ที่จะไปช่วยขับเคลื่อนหมุนเวียนเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ หลายโครงการดำเนินการเสร็จแล้วพร้อมจะเดินหน้า แต่ติดอยู่ตรงนั้นตรงนี้ ทำให้เม็ดเงินจำนวนมากไม่สามารถลงไปสู่การขับเคลื่อนได้ 

สำหรับการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ครั้งต่อไป กำหนดประชุมวันที่ 4 หรือ 7 ตุลาคม 2562 หลังจากที่นายกรัฐมนตรีเดินทางกลับจากเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 74 ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่ง ครม.เศรษฐกิจจะได้หารือเรื่องการส่งออก และการท่องเที่ยว จากนั้น ลำดับต่อไปจะได้หารือในเรื่อง SMEs และการใช้งบประมาณท้องถิ่นเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันยังติดอุปสรรคเรื่องกฎเกณฑ์ต่าง ๆ

 

ยุทธวิธีครม.เศรษฐกิจ

นอกจากนี้ กรรมการและเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ กล่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เรื่องที่เข้าสู่ที่ประชุม ครม. เศรษฐกิจ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1. เรื่องที่เป็นนโยบายเชิงรุก ที่จะทำในเชิงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า เช่น ที่ได้มีการนำเรื่องนโยบาย 7 ด้านที่จะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กันของกระทรวงต่าง ๆ เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.เศรษฐกิจ ในการประชุมครั้งแรก รวมถึงการกำหนดเป้าหมายที่ฝ่ายเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจเป็นผู้ริเริ่ม

2. การมอบหมายงานหลังจากนั้น โดยจากที่มีการประชุม 7 ด้านเสร็จ ก็มีการหารือว่า นักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้าสู่ประเทศไทยถือเป็นหัวใจสำคัญ เป็นโอกาสที่ดีที่สุดในรอบ 20 ปี ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้เลขาธิการบีโอไอ นำข้อเสนอในครั้งที่ผ่านมาไปดำเนินการสั่งงานไปที่หน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งคณะกรรมการบีโอไอได้ดำเนินการเรียบร้อย และอนุมัติตามแนวทางที่ ครม.เศรษฐกิจ ได้หารือไว้

3. เรื่องที่ส่งจากกระทรวงต่าง ๆ เข้าสู่คณะรัฐมนตรีตามปกติ แต่นายกรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก หรือเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับหลาย ๆ กระทรวง อยากให้มีโอกาสหารือโดยละเอียดก่อน  จึงให้นำเข้าหารือช่วยกันระดมความคิดเห็นในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่หารือวันนี้ ก็จัดอยู่ในประเภทที่ 3

 

ข้อมูลประกอบ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ หรือ ครม.เศรษฐกิจ แถลงผลการประชุมครม.เศรษฐกิจ(วันที่ 20 กันยายน 2562 ) ว่า ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจรับทราบผลการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (Mega Project) ของกระทรวงคมนาคม จำนวน 44 โครงการ วงเงินรวม 1,947,310 ล้านบาท แบ่งออกเป็น งบประมาณแผ่นดิน 259,791 ล้านบาท เงินกู้ 1,201,056 ล้านล้านบาท เอกชนร่วมลงทุนรัฐ (PPP) 338,810 ล้านบาท และรายได้/กองทุน 147,654 ล้านบาท ส่วนความคืบหน้าในการเบิกจ่ายตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ-ปี 61 เบิกจ่ายแล้ว 210,788 ล้านบาท ปี 62 เบิกจ่ายแล้ว 90,254 ล้านบาท ปี 63 มีแผนเบิกจ่าย 206,040 ล้านบาท และปี 64 – ระยะต่อไป มีแผนเบิกจ่าย 1,392,972 ล้านบาท

44 โครงการ ประกอบด้วย

โครงการระหว่างการก่อสร้าง7.82 แสนล้านบาท

กลุ่มที่ 1.โครงการที่ครม.อนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 17 โครงการ วงเงิน 782,329 ล้านบาท ได้แก่

 

1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) 3 เส้นทาง ดังนี้ สายพัทยา-มาบตาพุด เปิดให้บริการ กรกฎาคม.2563 สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา เปิดให้บริการปี 2565 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี คืบหน้าร้อยละ 22 ล้าช้ากว่าแผน 2 ปี ปัญหาค่ากรรมสิทธิ์ที่ดินสูงขึ้นต้องขออนุมัติปรับกรอบวงเงินเพิ่มเติมจากครม.

 

2.โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 7 สายทาง ระยะทางรวม 993 กิโลเมตร ดังนี้ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ก่อสร้างแล้วเสร็จ อีก 6 โครงการอยู่ระหว่างก่อสร้าง

3.โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา แบ่งงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 สัญญา เตรียมดำเนินการ 12 สัญญา

4.โครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง 2 สายทาง คือ ช่วงบางซื่อ-รังสิต และ ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เปิดบริการปี 64 พร้อมสถานีกลางบางซื่อ

5.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี-สุวินทวงศ์ส่วนตะวันออก เปิดบริการปี 2566

6.โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย – มีนบุรี เปิดบริการปี 2564

7.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง เปิดบริการปี 2564

8.โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายคลังขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย อยู่ระหว่างก่อสร้าง ส่วนการบริหารจัดการโครงการ ยังไม่สามารถเสนอขออนุมัติครม.เรื่องรูปแบบการลงทุน PPP ได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องค่าตอบแทนการใช้ที่ดินสปก.

แหล่งที่มาของงบประมาณ งบประมาณแผ่นดิน 169,176 ล้านบาท เงินกู้ 475,268 ล้านบาท PPP 126,037 ล้านบาท และรายได้/กองทุน 11,848 ล้านบาท

 

ครม.อนุมัติแล้ว 4.12 แสนล้านบาท

กลุ่มที่ 2 .โครงการที่ครม.อนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการ 12 โครงการ วงเงิน 412,739 ล้านบาท ได้แก่

1.โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง ช่วงวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯด้านตะวันตก ใช้เงินกองทุน TFF ได้ผู้ชนะการประกวดราคาแล้ว 4 สัญญา แต่ยังลงนามสัญญาเพราะมีปัญหาข้อร้องเรียนของผู้เสนอราคา

2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษบูรณะ อยู่ระหว่างออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินและเตรียมการประกวดราคา

3.โครงการก่อสร้างเส้นทางสายใหม่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ อยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณปี 63 เพื่อจ้างที่ปรึกษาจัดการประกวดราคาและเวนคืนที่ดิน

4.โครงการก่อสร้างเส้นทางสายใหม่ช่วงบางไผ่-มุกดาหาร-นครพนม อยู่ระหว่างขอรับจัดสรรงบประมาณปี 63 เพื่อจ้างที่ปรึกษาจัดการประกวดราคาและเวนคืนที่ดิน

5.โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม อยู่ระหว่างจัดหาที่ดิน ส่วนการบริหารจัดการโครงการ คาดว่าจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนต้นปี 2563

6.โครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง 3 สายทาง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช เปิดบริการปี 66

7.โครงการก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ช่วงที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ อยู่ระหว่างทำ EHIA กำหนดเสร็จปี 2565

8.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 อยู่ระหว่างคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน

9.โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) คาดว่าจะลงนามในสัญญาร่วมลงทุนระหว่างบริษัทการบินไทยกับบริษัทแอร์บัส ภายใน ธ.ค.62 11.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ระหว่างเตรียมการลงนามในสัญญา

แหล่งที่มาของงบประมาณ งบประมาณแผ่นดิน 43,085 ล้านบาท เงินกู้ 286,432 ล้านบาท PPP 23,679 ล้านบาท รายได้/กองทุน 59,543 ล้านบาท

เตรียมเข้าครม. 2 แสนล้านบาท

กลุ่มที่ 3 โครงการที่คณะกรรมการ PPP เห็นชอบแล้วและเสนอ สคร. เตรียมเสนอครม. 2 โครงการ วงเงิน 201,073 ล้านบาท ได้แก่

1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี-สุวินทวงศ์ อยู่ระหว่างเสนอครม. อนุมัติงานโยธา 2.ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม ปรับรูปแบบการเดินรถตลอดสาย

2.มอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ อยู่ระหว่างออกกฎกระทรวงที่พักริมทาง และ สคร.จะเสนอครม.

แหล่งที่มาของงบประมาณ งบประมาณแผ่นดิน 32,960 ล้านบาท เงินกู้ 168,095 ล้านบาท รายได้/กองทุน 19 ล้านบาท

 

โครงการในอนาคตอันใกล้ 5.5  แสนล้านบาท

กลุ่มที่ 4  โครงการที่จะนำเสนอครม.ในระยะต่อไป 13 โครงการ วงเงิน 551,170 ล้านบาท ได้แก่

1.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และ ช่วงบางซื่อ-หัวหมาก ระยะทาง 25.19 กิโลเมตร

2.โครงการก่อสร่างรถไฟทางคู่ ระยะที่สอง 7 สายทาง ระยะทางรวม 1,483 กิโลเมตร

3.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว

4.โครงการจัดหาเครื่องบิน ปี 62-69 จำนวน 38 ลำของบริษัทการบินไทย

5.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่สาม

6.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่หนึ่ง

7.โครงการศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา

 

แหล่งที่มาของงบประมาณ งบประมาณแผ่นดิน 14,569 ล้านบาท เงินกู้ 439,356 ล้านบาท รายได้/กองทุน 76,245 ล้านบาท

 

การลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้มีความพร้อม มีผลทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างการก่อสร้าง และการเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมื่อโครงการต่างๆ แล้วเสร็จ ใช้งานได้จริง  ผลโดยรวมคือเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น ขยายขนาดเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง

#