ข้อดีข้อด้อยประมูลสร้างรถไฟทางคู่กับ ทีโออาร์.เวอร์ชั่นใหม่

การสร้างรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตร เป็นการเพิ่มศักยภาพการขนส่งระบบรางระหว่างภาคระหว่างจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ แนวเส้นทางส่วนใหญ่คู่ขนานไปกับแนวเส้นทางรถไฟแต่เดิมทั้งสายเหนือ อีสาน กลางและใต้  อีกทั้งเส้นทางก่อสร้างส่วนมากเป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว  มาถึงปี 2560 โครงการรถไฟทางคู่ที่ล่าช้ามามากกว่า  20 ปี  มีความหวังดำเนินการให้แล้วเสร็จทั่วประเทศ

ใช้ TOR  ใหม่  6  เมษายน

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ รฟท.กำหนดประชุมในวันที่ 6 เมษายน 2560 เพื่อยกเลิกเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) โครงการรถไฟทางคู่เดิมทั้ง 5 เส้นทางตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเริ่มการพิจารณา TOR ใหม่ในเส้นทางแรก คือ หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กิโลเมตรเป็นสัญญางานระบบรางและงานโยธาที่ได้ปรับลดราคางานเป็น 8,500 ล้านบาท จากเดิม 9,990 ล้านบาท เนื่องจากแยกงานระบบอาณัติสัญญาณออกมา  และกำหนดเปิดขายซองประมูลได้ก่อนเทศกาลสงกรานต์  ส่วนอีก 4 เส้นทางจะทยอยประกาศ TOR  และเร่งการประมูลโครงการทั้ง 5 เส้นทางให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หรือ ภายในเดือนมิถุนายน 2560 ตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการมา

นายอานนท์ กล่าวว่า รฟท. การร่นระยะเวลานำ TOR ได้ปรับเปลี่ยนการเปิดรับฟังความคิดเห็นให้เหลือ 2 รอบ รอบละ 3 วัน จากเดิมกำหนดระยะเวลาประมาณ 2 เดือน โดยคาดว่าการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ไม่น่าจะมีปัญหาและใช้เวลาไม่มาก เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการปรับเงื่อนไข TOR ไปมากแล้ว เงื่อนไข TOR ใหม่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งประเด็นเรื่องผลงงาน ส่วนข้อกำหนดเกี่ยวกับประเด็นการร่วมทุนกับต่างชาติจะยังคงมีอยู่ คงต้องเร่งทำงานให้เร็วที่สุด โดยกำนหดเปิดประมูลทีละเส้น เพราะแยกสัญญาออกมาก็ต้องมาคำนวณราคากลางใหม่ แต่ราคาโครงการจะแตกต่างกันไม่มาก

มูลค่าสัญญาจ้างงานขนาดเล็กลง

ข้อมูลจากรฟท. ระบุว่า การประมูลงานโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ได้แบ่งสัญญาให้มีขนาดเล็กลง ทำให้สัญญาประมูลเพิ่มเป็น 13 สัญญา ใน 5 เส้นทาง แบ่งเป็นงานระบบอาณัติสัญญาณ 3 สัญญา และงานระบบรางและงานโยธา 10 สัญญา

(1) ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 116 กม. มีงานโยธาและระบบราง 2 สัญญา งานระบบอาณัติสัญญาณ 1 สัญญา

(2) ช่วงมาบกะเบา- ชุมทางจิระ ระยะทาง 132 กม. งานโยธาและระบบราง 2 สัญญา งานอุโมงค์ทางรถไฟและระบบราง 1 สัญญา งานระบบอาณัติสัญญาณ 1 สัญญา

สำหรับ (3) ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กม. (4) ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. (5) ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง167 กม. รวมทั้ง 3 เส้นทางมีงานโยธาและระบบราง 5 สัญญา และงานระบบอาณัติสัญญาณใช้ร่วมกัน 1 สัญญา

นอกจากนี้ ยังปรับ ข้อกำหนดทีโออาร์ใหม่หลังมูลค่างานต่อสัญญาเล็กลง เช่น ผลงานจากเดิม 15% ของมูลค่างานจะเหลือ 10%  ดังนั้น ผู้รับเหมามีผลงานโยธาและรางมูลค่า 500-1,000 ล้านบาท ก็สามารถเข้าร่วมประมูลได้  ส่วนราคากลางคาดว่าจะใกล้เคียงกับของเดิมที่ประมูลไป และจะไม่เกินจากกรอบงบประมาณได้รับอนุมัติ 100,138.72 ล้านบาท ประกอบด้วย ลพบุรี-ปากน้ำโพ ราคากลางอยู่ที่ 23,920 ล้านบาท มาบกะเบา-จิระ 28,104.31 ล้านบาท นครปฐม-หัวหิน 19,269.89 ล้านบาท หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 9,853 ล้านบาท และประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 16,234.64 ล้านบาท รวม 97,382.72 ล้านบาท

ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นและต้องป้องกันแก้ไข

ข้อมูลจากอดีตเคยมีปัญหาที่เกิดจากการแยกงานระบบอาณัติมาประมูลต่างหาก นั่นคือ บทเรียนการสร้างเส้นทางรถไฟช่วงรังสิต-ภาชีและหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา ที่งานโยธาเสร็จแล้วกว่าดำเนินงานติดระบบอาณัติสัญญาณได้ใช้เวลาอีกปีกว่า  บทเรียนนี้ต้องหาทางป้องกันแก้ไข  มิให้เกิดขึ้นเพราะเจตนารมณ์ของการทำทีโออาร์. ก็เพื่อให้งานก่อสร้างเสร็จรวดเร็วกว่า มีประสิทธิภาพมากขึ้น  อันเนื่องจากมีการแช่งขันที่เปิดกว้างขึ้น

การอำนวยการและการประสานงานระหว่างงานโยธาและงานระบบงาน  กับงานระบบอาณัติสัญญาณมีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดมีประสิทธิภาพสูง ป้องกันการเสียเวลาที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะเงื่อนไขการตรวจรับงานก่อนที่ผู้รับเหมาที่ได้งานระบบอาณัติสัญญาณจะสามารถเข้าพื้นที่งานก่อสร้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณได้

ทั้งนี้เพราะการก่อสร้างทางคู่นั้นส่วนใหญ่สร้างขนานไปกับทางเดิมที่มีรถไฟวิ่งอยู่ ดังนั้นสถานีที่อยู่ในเส้นทางจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากทุกสถานีตามรายทางเป็นจุดติดระบบอาณัติสัญญาณ ประแจสับเปลี่ยนราง ประสบการณ์ทางเทคนิคแต่เดิมคือต้องดำเนินการไปพร้อมกันภายใต้สัญญาเดียวกัน เพื่อสะดวกในการบริหารจัดการได้ เมื่อแยกสัญญาต้องรอให้งานโยธาเสร็จ รวมทั้งตรวจงานและส่งมอบ ถึงสามารถเข้าไปติดระบบอาณัติสัญญาณได้  หากไม่วางแผนเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้าอาจทำให้เกิดช่วงว่างของการเหลื่อมเวลากันได้ 1 ปีถึง 1 ปีครึ่ง  จนกระทบกำหนดการเปิดบริการภายในปี 2562-2563

การแข่งขันสูงขึ้น

เมื่อประมูลภายใต้ทีโออาร์.เวอร์ชั่นใหม่ ลดมูลค่างานลง จึงเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันมากขึ้นโดยปริยายมีผู้รับเหมาขนาดกลางและใหญ่เข้าร่วมได้มากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของงานโยธาและราง 10 สัญญา  เนื่องจากเป็นงานก่อสร้างที่ไม่ซับซ้อนไม่ได้ใช้เทคโนโลยีสูง  งานตรงส่วนนี้ผู้รับเหมาที่เข้าประมูลคงได้งานกันไปถ้วนหน้า  อย่างไรก็ตาม มีบริษัทก่อสร้างรายใหญ่ที่พอเห็นชื่อกันว่าจะได้งาน เช่น ช.การช่าง อิตาเลียนไทย ซิโน-ไทยฯ ยูนิคฯ สำหรับบริษัทก่อสร้างขนาดกลางที่มีประสบการจากการรับเหมางานก่อสร้างจากกรมทางหลวงมีศักยภาพในการทำงานโยธาและรางอาจเข้าร่วมแข่งขันด้วย และบางรายอาจร่วมมือกับบริษัทรับเหมาจากประเทศจีน

ประเด็นที่ต้องติดตามคือ  การประมูลงานระบบอาณัติสัญญาทั้ง 5 เส้นทาง ซึ่งมีมูลค่างานรวม 1 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยสัญญาละ 2 พันล้านบาท แต่เส้นทางรถไฟสายใต้มีมูลค่างานมากสุดเพราะรวม 3 โครงการเป็น 1 สัญญา มูลค่าร่วม 6 พันล้านบาท งานก่อสร้างตรงนี้ต้องการเทคโนโลยีที่สูงขึ้น บริษัทต่างชาติมีความได้เปรียบในการแข่งขัน เช่น บอมบาดิเอร์ ซีเมนส์ จากยุโรป แอลจีจากเกาหลี หรือมีจีนเข้ามาแจมด้วย ในส่วนงานอุโมงค์ 1 สัญญานั้นส่วนงานอุโมงค์คาดว่าวงเงินอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท การแข่งขันคงมี 3-4 เจ้าที่มีประสบการณ์ คือ อิตาเลียนไทย ช.การช่าง และไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง

ไม่กระทบรถไฟทางคู่เฟส 2 จำนวน 9 โครงการ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า การแยกสัญญาทางคู่เป็น 13 สัญญา เปิดโอกาสให้มีผู้แข่งขันมากขึ้น ทำให้ผู้รับเหมารายกลางและต่างชาติมีสิทธิ์เข้ามาเสนอราคาได้  การแบ่งก่อสร้างหลายสัญญา ทำให้งานเร็วขึ้น แต่ ร.ฟ.ท.ควรทำแผนประมูลและงานก่อสร้างที่ชัดเจน ให้สอดรับกับงานระบบอาณัติสัญญาณ เพื่อไม่ให้ล่าช้า

การทบทวนทางคู่ 5 เส้นทางไม่มีผลกระทบชิ่งรถไฟทางคู่เฟส 2 อีก 9 โครงการ วงเงินกว่า 398,376 ล้านบาท อยู่ในแผนปฏิบัติการเร่งด่วนปี 2560 ปัจจุบันกำลังนำโครงการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ และเปิดประมูลตามโมเดลที่ซูเปอร์บอร์ดกำหนด

#

 

บัญชีสยาม