ทุ่มงบ 7.6 แสนล้านบาทผลักดันแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย–มาเลเชีย-ไทย

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีทั้งความร่วมมือและการแข่งขัน  ในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนสิงคโปร์ดำรงตำแหน่งนำทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยพลังเศรษฐกิจของทุนตะวันอเมริกาและอังกฤษ กับตำแหน่งที่ตั้งอันเป็นจุดสำคัญของการขนส่งระหว่างประเทศทางทะเล-มหาสมุทร  โครงการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่ายสามฝ่ายอินโดนีเซีย–มาเลเชีย-ไทย  (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT-GT)  ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2536 เป็นโครงการที่เร่งผลักดันให้อินโดนีเซีย-มาเลเซียและไทยพัฒนาก้าวหน้าให้เข้าใกล้สิงคโปร์มากขึ้น

 

แผนดำเนินการ 5 ปีระยะที่สาม (2560-2564)

มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 เมษายน  2560  เรื่อง  ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 10 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย – มาเลเชีย-ไทย (IMT-GT)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 10 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย–มาเลเชีย-ไทย  (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT-GT) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ และให้ สศช. สามารถปรับปรุงถ้อยคำในแถลงการณ์ร่วมฯ ได้ในกรณีที่มิใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ โดย สศช. จะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขพร้อมด้วยเหตุผลประกอบอีกครั้งหนึ่ง

ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 10 แผนงาน IMT-GT มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

 

1. ยืนยันบทบาทสำคัญของ IMT-GT ในการสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยในช่วงเศรษฐกิจโลกซบเซาที่ผ่านมา เศรษฐกิจ IMT-GT ยังคงเข้มแข็งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจถึงร้อยละ 6.9 ระหว่างปี 2554 -2558 ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อประชากรเพิ่มสูงขึ้นเป็น 13,844 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2558 ซึ่งสูงกว่าอาเซียนที่เติบโตเท่ากับ 11,009 ดอลลาร์สหรัฐ

 

2. รับทราบความสำเร็จของการดำเนินงานภายใต้แผนดำเนินงานระยะห้าปี แผนที่ 2 ปี 2555 – 2559 (Implementation Blueprint: 2012 - 2016) ยินดีต่อความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการเชื่อมโยงทางกายภาพตามแนวระเบียงเศรษฐกิจและความริเริ่มในการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ซึ่งจะสนับสนุนทางการค้าและการตลาด ยินดีต่อความก้าวหน้าการสนับสนุนเมืองสีเขียว และยินดีต่อการลงนามจัดตั้งมหาวิทยาลัยเครือข่าย IMT-GT รวมทั้งรับทราบการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยวด้วยการเปิดเส้นทางการบินใหม่กว่า 10 เส้นทางในอนุภูมิภาค

 

3. รับรองแนวทางการพัฒนาที่สนับสนุนซึ่งกันและกันสามประการ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายของ IMT-GT ได้แก่

1) การกำหนดและดำเนินการโครงการซึ่งมีลักษณะที่ขยายการดำเนินการต่อไปอีกได้และนำมาเป็นแบบอย่างเพื่อดำเนินการที่อื่นอีกได้และมีความยั่งยืน

2) ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อให้ความสำคัญเกี่ยวกับโครงการ และดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ที่เฉพาะเจาะจง เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนโครงการ

3) ใช้แนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากแนวระเบียงเศรษฐกิจที่มีลำดับความสำคัญสูงทั้งห้าแนวระเบียงโดยมีการปรับปรุงการเชื่อโยงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ สร้างความแข็งแกร่งให้กับกลไกเชิงสถาบันและความเชื่อมโยงในด้านกฎระเบียบ ผสมผสานนวัตกรรม และสร้างความเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าข้ามพรมแดนและการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม และเนื่องจากประเทศสมาชิก IMT-GT มีพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง ป่าไม้ และแหล่งน้ำ ที่เชื่อมโยงกันทางกายภาพ จึงควรมีการปรับใช้แนวทางเชิงพื้นที่มุ่งสู่การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกัน

 

4. ยืนยันข้อผูกพันในการดำเนินโครงการเพื่อการเชื่อมโยงกันทางกายภาพ มูลค่ากว่า 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงใน IMT- GT ภายใต้แผนดำเนินงานระยะห้าปีฉบับใหม่และฉบับต่อไป โดยจะเสริมสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและระดมทรัพยากรที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการตามแผนดำเนินงานระยะ 5 ปี ปี 2560 – 2564 เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ 2579 และย้ำถึงการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการลงทุนและดำเนินโครงการภายใต้ IMT-GT รวมถึงการดำเนินความร่วมมือภาครัฐ – ภาคเอกชน (Public-Private Partnership: PPP)

 

ขยายความ โครงการเพื่อการเชื่อมโยงกันทางกายภาพ  จำเป็นต้องมีการก่อสร้างโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั้งทางบก (ถนนและระบบราง)  ทางน้ำ และทางอากาศ  (โดยต้องมีถนนหรือระบบรางต่อเชื่อม) อีกทั้งต้องก่อสร้างอาคารปฏิบัติการ สิ่งปลูกสร้างและอาคารอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้ผู้มาใช้บริการ วงเงินลงทุนกว่า 23,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 759,000 ล้านบาท  (ราว 7.6 แสนล้านบาท)  แม้กระจายไปสามประเทศเฉลี่ย 2.5 แสนล้านบาทในเวลา 5  ปี (พ.ศ.2560-2564) ย่อมน่าสนใจ  อย่างน้อยกิจการรับเหมาก่อสร้างที่มีศักยภาพรับงานก่อสร้างขนาดใหญ่-ขนาดกลาง ก็สมควรจัดให้มีคนขององค์กรรับผิดชอบติดตามความคืบหน้าของแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย–มาเลเชีย-ไทย (IMT-GT) ดังกล่าว

 

ผลการดำเนินงานระยะห้าแผนที่ 2 (พ.ศ. 2555-2559)

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  เกี่ยวกับรายงานผลสำเร็จการดำเนินงานโครงการแผนงาน IMT-GT ปีสุดท้ายของแผน ดำเนินงานระยะห้าปี แผนที่ 2 ปี 2555-2559 (Implementation Blueprint 2012-2016) ใน 6 สาขา ความร่วมมือ ได้แก่

 

(1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง

(2) การค้าการลงทุน

(3) การท่องเที่ยว

(4) ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล

(5) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

และ (6) การเกษตร อุตสาหกรรมเกษตรและ สิ่งแวดล้อม

 

ทั้งนี้มีโครงการสำคัญของ 6 สาขาความร่วมมือ ได้แก่ การพัฒนาด่านชายแดน เช่น ด่านสะเดา-บูกิตกายูฮิตัม โครงการนี้นายกรัฐมนตรีฯได้มาเป็นประธานเปิดอาคารด่านขาออกหลังใหม่เมื่อเดือนธันวาคม 2558

ด่านบ้านประกอบ-ดูเรียนบุหรง จังหวัดสงขลา การก่อสร้างท่าเรือนาเกลือในจังหวัดตรังแล้วเสร็จและเปิดใช้ งานแล้ว

การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไทย-มาเลเซีย เชื่อมโยงสงขลากับรัฐเกดะห์และปะลิส และนราธิวาสกับรัฐกลันตัน เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าที่มีศักยภาพข้ามแดน มาเลเซียเสนอโครงการชูปิงวัลเลย์ (Chuping Valley) รัฐปะลิส เพื่อเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดาและโครงการเมืองยางพาราซึ่งบริหารโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

โครงการให้บริการขนส่งโดยเรือเฟอร์รี่ขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ระหว่างมะละกา-ดูไม (IMT-GT Melaka-Dumai Ro-Ro)

 

โครงการเหล่านี้จะเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ห่วงโซ่เกษตรกรรมที่มีมูลค่าสูงและปลอดภัย เช่น แพะพันธุ์สุราษฎร์เรด

การจัดทำคู่มือเดินทางท่องเที่ยวฮาลาล (Halal Route) การท่องเที่ยวตามรอยธรรม หลวงปู่ทวดในไทยและมาเลเซีย การแลกเปลี่ยนฝีกอบรมแรงงาน

นอกจากนี้ยังมี การขับเคลื่อนโครงการเมืองสีเขียว (Green city) ในพื้นที่เทศบาลนครสงขลาและหาดใหญ่ มะละกา บาตัม และเมดาน การจัดประชุม IMT-GT Green Council ครั้งที่ 1 ที่รัฐมะละกา ซึ่งจังหวัดสงขลาได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม IMT-GT Green Council ครั้งที่ 2 ที่อำเภอหาดใหญ่ ในเดือนสิงหาคม 2560

โครงการอาคาร ประหยัดพลังงานที่มะละกาและสงขลา โดยจังหวัดสงขลามี 17 อาคาร

การก่อสร้างศูนย์เรือเฟอร์รี่ Roll on/ Roll off (RoRo) มะละกา-ดูไม ความร่วมมือยางพาราระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและ Tradewind Plantation ของมาเลเซีย เส้นทางท่องเที่ยวเมืองเก่า การท่องเที่ยวเชิงฮาลาล ศูนย์กลางการ ท่องเที่ยวทางเรือที่เมืองซาบัง อาเจะห์

 

โครงการสำคัญแผนดำเนินงานระยะห้าปี แผนที่ 3

รัฐมนตรี IMT-GT เห็นชอบในหลักการการศึกษาทบทวนยุทธศาสตร์ IMT-GT เพื่อวางแผนพัฒนาให้ทันความเปลี่ยนแปลงในโลกและภูมิภาคตามวิสัยทัศน์ระยะยาว (20 ปี) และการจัดทำแผน ดำเนินงานระยะ 5 ปี แผนที่ 3 ปี 2560-2564 โดยให้ความสำคัญต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม การพัฒนาที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนโครงการที่มีผลกระทบสูงและให้ผลลัพธ์ที่เห็นผลได้ชัดเจน โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาเกื้อกูลกัน

 

สาขาความร่วมมือที่ให้ความสำคัญมากขึ้นประกอบด้วยการเกษตรและแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร การท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล โดยมีสาขาความร่วมมือที่เป็นพื้นฐานสำคัญและมาส่งเสริมซึ่งกันและกัน ได้แก่ ความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

 

โครงการในแผนระยะ 5 ปี แผนที่ 3 ที่สำคัญ เช่น การก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่โดยบูรณาการการก่อสร้างเชื่อมโยงกับด่านศุลกากรบูกิตกายูฮิตัม กำหนดแล้วเสร็จปี 2562

การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งใหม่ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส-เมืองตุมปัต รัฐกลันตัน และสะพานแห่งที่ 2 ข้ามแม่น้ำโกลกที่อำเภอสุไหงโก-ลก-เมืองรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีสองประเทศมีกำหนดร่วมกระทำพิธีวางศิลาฤกษ์ราวกลางปี 2560 กำหนดแล้วเสร็จราวปี 2562-2563

 

ส่งเสริมบทบาทภาคเอกชนและภาควิชาการ

ยุทธศาสตร์ IMT-GT นั้นให้ความสำคัญการขับเคลื่อนแผนงานโดยยกระดับบทบาทของภาคเอกชน ได้แก่ สภาธุรกิจ IMT-GT โดยสนับสนุนสภาธุรกิจให้เป็นองค์กรที่เป็นที่ยอมรับและการรับข้อเสนอด้านการ อำนวยความสะดวกจากภาครัฐเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและการประกอบธุรกิจในพื้นที่ IMT-GT เช่น

 

การเร่งรัดพัฒนาด่านชายแดน การอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและการเดินทางผ่านแดนทางบก

การพัฒนาสายการผลิตข้ามแดนของยางพารา ความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในแนวเส้นทางอาเจห์-ปีนัง-ภูเก็ต-หาดใหญ่-สามจังหวัดชายแดน

การจัดตั้งศูนย์ลอจิสติกส์ฮาลาล

การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเมืองมรดก ทางวัฒนธรรมระหว่างเมดาน-ปีนัง-มะละกา-สงขลา

 

ด้านความร่วมมือทางวิชาการ ยุทธศาสตร์ IMT-GT ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยใน IMT-GT (IMT-GT UNINET) โครงการนี้มหาวิทยาลัยเชกัวลา อาเจะห์ อินโดนีเซีย เป็นประธาน โดยเน้นการเสริมสร้างบทบาทของมหาวิทยาลัยใน IMT-GT ในการทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนในด้านการวิจัยและพัฒนา การเสริมสร้างศักยภาพ และโครงการเคลื่อนย้ายบุคลากรที่มีความสามารถ (Talent Mobility) เพื่อให้เกิดการ สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนใน IMT-GT โดยใช้วัฒนธรรมและการศึกษาเป็นสื่อกลาง การขับเคลื่อนโครงการอินโดนีเซียรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 23 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผนงาน IMT-GT ณ จังหวัดบังกา-เบลิตุง ในช่วงปลายปี 2560

 

ข้อมูลประกอบ

โครงการความร่วมมือเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle:IMT-GT)  เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2536 โดยผู้นำทั้ง 3 ประเทศได้เห็นชอบให้ผลักดันการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในลักษณะไตรภาคี ระหว่างภาคใต้ของไทย ภาคเหนือของมาเลเซีย และพื้นที่บนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank:ADB) ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้และกำหนดแนวทางการดำเนินงานในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจดังกล่าวและที่ประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้งสามประเทศได้ให้ความเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 14-16 ธันวาคม พ.ศ.2537

 

พื้นที่ความร่วมมือประกอบด้วย พื้นที่ของเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ได้แก่ แคว้นอาเจะห์ จังหวัดสุมาตราเหนือ จังหวัดสุมาตราตะวันตก จังหวัดสุมาตราใต้ จังหวัดบังลาเบลิตุง จังหวัดเรียว จังหวัดจัมบี จังหวัดลัมปุง และจังหวัดเรียวไอร์แลนด์ พื้นที่ทางตอนเหนือและตะวันตกของมาเลเซีย ได้แก่ เคดาห์ เปรัก ปีนัง เปอร์ลิส เซลังงอร์ กลันตัน เมลากา และเนกรี เซมบิลัน และพื้นที่ 14 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ได้แก่ สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช ภูเก็ต พังงาน กระบี่ ระนอง ชุมพรและสุราษฎร์ธานี

 

 

#

บัญชีสยาม