"กรุงเทพฯใหม่" วิถีชีวิตที่ดีขึ้นจากรถไฟฟ้า

สภาพแวดล้อมของกรุงเทพฯปริมณฑลในปัจจุบันมีภาพที่สวยงามของชีวิตคนเมืองที่มีความสะดวกจากสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยระดับโลก  แต่อีกด้านหนึ่งก็มีภาพความไม่ความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง อันเห็นได้ชัดจากการจราจรระบบถนนที่ติดขัด  อัตราการเคลื่อนที่ของรถยนต์ต่อชั่วโมงช้ากว่าการเดินเท้า  อย่างไรก็ตามยังมีความหวังที่สดใส  เมื่อการคมนาคมขนส่งระบบรางของกรุงเทพฯปริมณฑล เริ่มมีมากขึ้น

 

เลือกอยู่และทำงานใกล้สถานีรถไฟฟ้า

ชั่วโมงเร่งด่วนเช้าและเย็น  ภาพที่เคยเห็นเสมือน “เรื่องตลก”  ของฉากการขึ้นรถไฟฟ้าประเทศญี่ปุ่นที่มีเจ้าหน้าที่คอยยัดผู้โดยสารเข้าตู้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน  อาจเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ  ทั้งนี้เพราะปัจจุบันรถไฟฟ้าบีเอส และเอ็มอาร์ที ในช่วงเวลาเร่งด่วนดังกล่าวแน่นขนัด

ความสะดวกในการใช้รถไฟฟ้าที่หลายคนมุ่งหวังคือ เมื่อเริ่มต้นจากที่พักอาศัย และจากสถานที่ทำงาน  เพียงเดินสักร้อยสองร้อยเมตร  หรือไม่เกิน 500  เมตรก็เข้าระบบรถไฟฟ้า

ข้อมูลรถไฟฟ้าที่เปิดบริการในปัจจุบันและโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างจนถึงแผนงานในอนาคต ทำให้มองเห็นสถานีเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าได้ดังนี้

 

เลือกจุดมีสถานีร่วม-สถานีเชื่อมต่อ

สถานีเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสองสายที่เปิดบริการแล้วมีดังนี้

1.สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิตเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที่สถานีจตุจักร

2.สถานีรถไฟฟ้าสยามสแควร์จุดเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าบีทีเอสสองสายคือสายหมอชิต-แบริ่ง (ด้านหมอชิตกำลังขยายไปลำลูกกา  ด้านแบริ่งกำลังขยายไปสมุทรปราการกับสายสนามศุภชลาศัย-บางหว้า

3.สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสพญาไทเชื่อมกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์  และในอนาคตเชื่อมกับสาย Missing Link (บางซื่อ-หัวลำโพง-หัวหมาก)

4.สถานีบีทีเอสอโศกเชื่อมกับสถานีสุขุมวิทของรถไฟฟ้าใต้ดิน

5.สถานีบีทีเอสศาลาแดงเชื่อมกับสถานสีลมของรถไฟฟ้าใต้ดิน

6.สถานีเพชรบุรีของรถไฟฟ้าใต้ดินเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์สถานีมักกะสัน

 

สถานีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าที่ใกล้เปิดบริการ

สถานีเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าที่ใกล้เปิดบริการเร็ววันนี้  (ไม่กี่ปี)

7.สถานีบางหว้าของบีทีเอสเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินสถานีท่าพระเงินต่อขยาย หัวลำโพง-บางแค  และบางซื่อ-ท่าพระ

8.สถานีบางซ่อนจุดเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซ่อน-บางใหญ่) และรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย บางซื่อ-ท่าพระ

9. สถานีห้าแยกลาดพร้าว รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (หมอชิต-คูคต) เชื่อมกับสถานีพหลโยธินรถไฟฟ้าใต้ดิน

 

สถานีเชื่อมต่อที่อยู่ในแผนงานซึ่งใกล้เปิดประมูล

10.สถานีอนุสาวรีย์หลักสี่ของสายสีเขียวต่อขยายเชื่อมกับสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี)

11.สถานีศูนย์วัฒนธรรม(รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน)เชื่อมสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี)

12.สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีเชื่อมสายสีม่วงกับสีชมพู

13.สถานีมีนบุรีเชื่อมสีส้มกับสีชมพู

14.สถานีลาดพร้าวรถไฟฟ้าใต้ดินเชื่อมสายสีเหลือง

 

สถานีเชื่อมต่อที่อยู่ในแผนงาน (ยังไม่มีกำหนดการประมูล)

15.สถานีวุฒากาศของบีทีเอสเชื่อมกับสถานีตากสินสายสีแดง (ตากสิน-มหาชัย)

16.สถานีราชเทวีเชื่อมกับสถานีประตูน้ำสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน)

17.สถานีสำโรงของสีเขียวต่อขยาย (แบริ่ง-สมุทรปราการ) เชื่อมสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง)

18.สถานี วังบูรพาเชื่อมสายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) กับสีน้ำเงินต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค)

19.สถานีหัวลำโพงเชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดินกับสีแดง (บางซื่อ-หัวลำโพง)

20.สถานีบางขุนนนท์ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน(ส่วนต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระ) เชื่อมสายสีส้ม

21.สถานีสิรินธรเชื่อมสีแดง (มักกะสัน-บางบำหรุ) กับสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระ)

22.สถานีตลิ่งชันเชื่อมสายสีแดงกับสีส้ม

23.สถานีวงเวียนใหญ่เชื่อมสีม่วงต่อขยายกับสีแดงหัวลำโพง-มหาชัย

24.สถานีราชปรารภเชื่อมสายสีส้มกับแอร์พอร์ตลิงก์

25.สถานีพัฒนาการเชื่อมสายสีเหลืองกับแอร์พอร์ตลิงก์สถานีหัวหมาก

26.สถานีแยกลำสาลีเชื่อมสายสีเหลืองกับสีส้ม

27.สถานียมราชเชื่อมสายสีส้มกับสีแดง

28.สถานีสามเสนจุดเชื่อมกับสายสีแดง

29.สถานีผ่านฟ้าสายสีม่วงต่อขยายกับสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสายสีส้ม

30.สถานีราชวิถีจุดเชื่อมสายสีแดง

31.สถานีหลักสี่เชื่อมสายสีแดงกับสีชมพู

32.สถานียศเสเชื่อมบีทีเอสกับสีแดง

33.สถานีรางน้ำเชื่อมสีส้มกับสีแดง

34.สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิสายสีแดงเชื่อมกับบีทีเอส

36.สถานีบางบำหรุจุดเชื่อมสายสีแดง

37.สถานีสามเสนในจุดเชื่อมของสายสีแดงกับแอร์พอร์ตลิงก์ต่อขยาย

และ38.สถานีบางซื่อจุดเชื่อมระบบรางทั้งรถไฟชานเมืองไฮสปีดเทรนและรถไฟฟ้า

 

เส้นทางรถไฟฟ้า-เส้นทางชีวิตเมือง

ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยเพื่ออยู่เองในช่วงอายุการทำงานของตนเองนับจากปัจจุบันจนไม่เกิน 20 ปี (ถึงเวลานั้นอายุผู้ซื้อไม่เกิน 60 ปี) ย่อมสนใจจุดเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิดบริการและใกล้เปิดบริการ

ประเด็นที่ควรพิจารณาคือ  การเดินเท้าจากที่อยู่อาศัยไปยังสถานีรถไฟฟ้าเป็นอย่างไร  สามารถใช้รถจักรยานได้หรือไม่  หรือมีที่จอดรถสาธารณะพื้นที่มากน้อยเพียงใด

ส่วนเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อาทิ ห้างสรรพสินค้า  ศูนย์การค้า  ตลาด  อันเป็นโครงการลงทุนของภาคเอกชน  เรื่องพึงกังวลมิใช่ไม่มี หรือมีน้อย  แต่ควรกังวลว่ามีมากไป  มีขนาดใหญ่เกินไป  จนทำให้การจราจรติดขัดไม่สะดวก  ทั้งนี้ประเทศไทยนั้นระบบผังเมืองไม่ค่อยเข้มแข็งนั่นเอง

เมื่อเลือกหรือจำเป็นต้องอยู่อาศัยในเมือง จำเป็นต้องมองถึงยุคใหม่ที่กำลังเริ่มต้นความเปลี่ยน  แรกเริ่มมักช้า แต่รวดเร็วมากขึ้นในระยะเวลาไม่นานนัก  การเตรียมพร้อมไว้ย่อมมีโอกาสเลือกสิ่งที่ดีกว่า

กรุงเทพฯ เริ่มเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ด้วยการเดินทางระบบรถไฟฟ้าที่มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น  ที่เห็นชัดเจนคือมีผลต่อการเลือกทำเลที่ตั้งเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย และการเลือกที่ตั้งอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า

#

 

บัญชีสยาม