อีกจุดขับเคลื่อนแห่งการบริหารจัดการเรื่องการใช้ประโยชน์พื้นที่ระดับทั่วประเทศ
  • 21 มิถุนายน 2017 at 09:59
  • 1086
  • 0

มีข้อขัดแย้งและมีเรื่องจำนวนมากให้บริหารจัดการในแง่มุมของการใช้ประโยชน์ทางกายภาพ-การใช้ประโยชน์พื้นที่ใช้สอยในช่วงเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมมาสู่สังคมอุตสาหกรรม  และพาณิชยกรรม  จนถึงการบริหารจัดการพื้นที่ใช้สอยในยุคเร่งขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0  สาระสำคัญหนึ่งที่เกิดขึ้นจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่  20  มิถุนายน  2560 เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติ  ครั้งที่ 1/2560  มีจุดที่น่าสนใจติดตามอย่างต่อเนื่อง

อีกหนึ่งแผนแม่บท

การบริหารจัดการของรัฐบาลหลายต่อหลายชุดมักมี “แผนแม่บท”  ล่าสุด (วันที่ 20 มิถุนายน 2560) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) แผนแม่บทภูมิสารสนเทศแห่งชาติและมาตรฐานภูมิสารสนเทศของประเทศ จำนวน 10 เรื่อง ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด  จาตุศรีพิทักษ์) ประธานกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติเสนอ และให้คณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ต่อไป  โดยให้ความสำคัญกับการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเชื่อมโยงข้อมูลเรื่อง Big Data  ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม  และมีข้อมูลที่สามารถสนับสนุนและสอดคล้องกับการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (one map) การจัดทำผังเมือง รวมทั้งด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติไว้ด้วย ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงมหาดไทย  สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

 

แผนแม่บทเพื่อรองรับยุทธศาสตร์แห่งชาติ

ทั้งนี้  เมื่อมีกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติแล้ว  ให้คณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติพิจารณาทบทวนและปรับปรุงแผนแม่บทภูมิสารสนเทศแห่งชาติอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ และให้เสนอคณะรัฐมนตรีทราบต่อไปด้วย

สาระสำคัญของ (ร่าง) แผนแม่บทภูมิสารสนเทศแห่งชาติ เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านภูมิสารสนเทศ (National  Spatial Data Infrastructure : NSDI) โดยมีองค์ประกอบหลัก 4 ส่วน ได้แก่

(1) กรอบนโยบายและโครงสร้าง (Policy)

(2) ชุดข้อมูลภูมิสารสนเทศพื้นฐาน (fundamental  Geographic Data Set : FGDA)

(3) มาตรฐานทางด้านภูมิสารสนเทศ (Standards) 

(4) ระบบสืบค้นและบริการภูมิสารสนเทศแห่งชาติ (Clearinghouse/Portal)

และ (5) ความพร้อมด้านภูมิสารสนเทศ (Capacity)

อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงเวลาถัดมาจะได้มีการดำเนินการตามที่เสนอไว้ในแผนหลายประการ แต่ร่างแผนแม่บททางด้านภูมิสารสนเทศแห่งชาติฉบับนี้ยังไม่เคยประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

 

กำหนด 4 ยุทธศาสตร์  10  มาตรฐาน

ทั้งนี้  (ร่าง) แผนแม่บทฯ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ 4 ยุทธศาสตร์ ซึ่งมีส่วนสนับสนุนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและการปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล  โดยมีการนำข้อมูลภูมิสารสนเทศมาใช้ตอบสนองมาตรการที่สำคัญ เช่น การบูรณาการข้อมูลผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูลกลางการเกษตรแบบครบวงจรรายบุคคลผ่านการบูรณาการ  การยกระดับความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน การบูรณาการข้อมูลเพื่อป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติ  การบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อการบริหารจัดการในภาวะวิกฤต ประกอบด้วย

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ปรับปรุงกฎ ระเบียบให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์ใหม่ทางภูมิสารสนเทศ

ยุทธศาสตร์ที่2 สร้างระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศกลางของภาครัฐ

ยุทธศาสตร์ที่3 พัฒนาเว็บท่าและระบบให้บริการข้อมูลภูมิสารสนเทศทุกภาคส่วน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และส่งเสริมผลักดันให้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากเทคโนโลยีและข้อมูลภูมิสารสนเทศ

มาตรฐานภูมิสารสนเทศของประเทศ  จำนวน 10 เรื่องได้แก่

(1) มาตรฐานภูมิสารสนเทศการประยุกต์ใช้ภาษาโครงร่างเชิงแนวคิด 

(2) มาตรฐานภูมิสารสนเทศ 

(3) มาตรฐานโพรไฟล์ของภูมิสารสนเทศ

(4) มาตรฐานภูมิสารสนเทศโครงร่างเชิงพื้นที่

(5) มาตรฐานภูมิสารสนเทศโครงร่างเชิงเวลา

(6) มาตรฐานภูมิสารสนเทศโครงร่างกฎสำหรับการประยุกต์ภูมิสารสนเทศ 

(7) มาตรฐานภูมิสารสนเทศการเข้ารหัส

(8) มาตรฐานภูมิสารสนเทศรูปลักษณ์ทางภูมิสารสนเทศ

(9) มาตรฐานภูมิสารสนเทศระบบให้บริการระบุตำแหน่งหลายรูปแบบสำหรับแสดงเส้นทางและการนำร่อง  มาตรฐานภูมิสารสนเทศกระบวนการลงทะเบียนภูมิสารสนเทศ

และ (10) การกำหนดมาตรฐานกลางสำหรับระบบสำรวจข้อมูลระยะไกลและระบบภูมิสารสนเทศที่ประกาศโดย สทอภ. 2 เรื่อง คือ ข้อกำหนดของมาตรฐานโครงสร้าง เนื้อหา คุณลักษณะ คุณภาพ  ของชุดข้อมูลภูมิศาสตร์พื้นฐาน เล่ม 1 และ 2

ขยายความ

หากประมวลและประเมินว่า ขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติชุดปัจจุบันสามารถบริหารจัดการ “ส่วนแบ่งความมั่งคั่งและอำนาจ” ได้อย่างต่อเนื่อง 5 ปี 10  ปี หรือ 15-20  ปี  ตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ  ก็สมควรให้น้ำหนักกับ (ร่าง) แผนแม่บทภูมิสารสนเทศแห่งชาติ ให้มากเข้าไว้  ศึกษารวบรวมแนวคิดและข้อมูลมาประกอบการวางแผนและตัดสินใจในการบริหารจัดการธุรกิจ  กระนั้นก็ตามแม้ว่าเกิดการประเมินว่า  ขั้นอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง อาจมีการเปลี่ยนแปลง  แต่ก็มิใช่หมายความ สภาพทางกายภาพ-ภูมิศาสตร์ของประเทศเปลี่ยนแปลงตาม   แนวคิดหลัก ๆ  ในการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์พื้นที่ใช้สอย ย่อมไม่เปลี่ยนไปมากนัก   ที่เปลี่ยนไปคือ  การจัดสรรปันส่วน  ผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

สรุปให้ชัดคือ ประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่ผ่านมา  “แผนพัฒนา”  ส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลง  ที่เปลี่ยนแปลงคือ กลุ่มขั้วอำนาจทางการเมืองที่ได้รับประโยชน์จาก “แผนพัฒนา” การแบ่งปัน-จัดสรรปันส่วนอำนาจและความมั่งคั่งนั้นไม่มีความเสมอภาคมาแต่ไหนแต่ไร  เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็ง-พลัง ของแต่ละฝ่ายที่ดำรงอยู่จริงในแต่ละช่วงเวลาของการต่อรอง

ในประเด็นอำนาจหน้าที่ของกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติไปดูรายละเอียดได้ที่

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2556/E/084/1.PDF

 

#