ทาทา สตีล เน้นตลาดสินค้ามูลค่าเพิ่ม แก้ปัญหาตลาดเหล็กโดยรวมยอดขายลด

กลยุทธ์อุตสาหกรรมเหล็กขั้นกลางในไทยตัดสินความเหนือกว่าที่การสร้างตลาดสินค้ามูลค่าเพิ่ม และเทคโนโลยีการผลิต และนวัตกรรมการบริการลูกค้า   เสริมด้วยประสิทธิภาพการบริหารจัดการโรงงาน และแผนการขายการตลาด

ผลกระทบจากนอกประเทศที่เลี่ยงไม่ได้

ตลาดเหล็กโลกต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากสาธารณรัฐประชาชนจีน  ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ความต้องการเหล็กในสาธารณรัฐประชาชนจีนยังคงแข็งแกร่ง ส่งผลให้ราคาสูง  (ทั้งวัตถุดิบและสินค้าเหล็กสำเร็จรูป)  ดังนั้นปริมาณการส่งออกเหล็กโดยรวมจากจีน ในครึ่งปีแรก 2560 ลดลง 28% อยู่ที่ 41 ล้านตัน  มองเฉพาะการส่งออกเหล็กลวดมาไทยเปรียบเทียบข้อมูลปี 2559 อยู่ที่ 1.22 ล้านตัน แต่ปริมาณส่งออกเดือนมกราคม  - พฤษภาคม 2560   อยู่ที่ 294,000 ตัน  คาดการปริมาณรวมทั้งปี 705,000 ตัน  ดังนั้นในปี 2560  จึงมีช่องว่างของตลาดเหล็กลวดในประเทศประมาณ 500,000  ตัน ซึ่งเป็นโอกาสของบริษัทผลิตเหล็กลวดในประเทศ  ส่วนปริมาณการผลิตเหล็กดิบเดือนมกราคม – มิถุนายน 2560  เพิ่มขึ้น 4.6 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน อยู่ที่ 420 ล้านตัน

ขณะเดียวกันต้องดูสภาพเศรษฐกิจในประเทศและการบริโภคเหล็กโดยรวมประกอบ   ทั้งนี้สภาพเศรษฐกิจในประเทศอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) รวมถึงธนาคารกสิกรไทย และธนาคาไทยพาณิชย์สรุปข้อมูลอัตราการขยายตัวทางเศรษฐได้ดังนี้

GDP ของประเทศไทยขยายตัวในระดับปานกลาง และมีความต่อเนื่องผลจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยวและการสนับสนุนจากรัฐ

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในระดับร้อยละ 3.2 ถึง3.3 มามากจาก 5 ไตรมาส บ่งชี้ว่ามีความมั่นคงและมีโอกาสขยายตัวมากกว่านี้  การลงทุนภาครัฐยังขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 9.7ของไตรมาส 1 ปี 2560  ส่วนการลงทุนภาคเอกชนหดตัวติดลบที่ร้อยละ 1.1 ติดลบเพิ่มขึ้น   ดังนั้นจึงส่งผลให้ความต้องการบริโภคเหล็กโดยรวมลดลง

มีข้อมูลคือ เหล็กสำเร็จรูป ช่วงครึ่งแรกปี 2560 มีการบริโภค 8.34  ล้านตัน ขณะที่ช่วงเดียวกันปี 2559  มีการบริโภค 9.97 ล้านตัน เท่ากับลดลง -16.4%

การผลิตเหล็กสำเร็จรูปเดือนมกราคม –มิถุนายน 2560 จำนวน 3.4 ล้านตัน เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2559 มีการผลิต 4.25  ล้านตนเปรียบเทียบแล้วลดลง – 20.1 %

การนำเข้าเหล็กสำเร็จรูปครึ่งแรกปี 25560  จำนวน 5.74 ล้านตัน  เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2559  ที่มีการนำเข้า 6.36 ล้านตัน เท่ากับลดลง – 9.7 %

ข้อมูลจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ระบุว่าในส่วนของการบริโภคเหล็กทรงยาวต่อไปนี้แสดงให้เห็นว่า มีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญเพราะลดลงมากกว่าการบริโภคเหล็กโดยรวม  กล่าวคือ การบริโภคเหล็กทรงยาว เดือนมกราคม - มิถุนายน 2560 จำนวน 2.89  ล้านตัน  แต่ในช่วงเดียวกันปี 2559 มีจำนวน 4.20  ล้านตันลดลงถึง -31.2  การผลิตในช่วงเวลาเดียวกันปี 2560 จำนวน 2.11 ล้านตัน  ปี 2559จำนวน 29.8  ล้านตัน เท่ากับลดลง -29.3ส่วนการนำเข้าในช่วงเดียวกันปี 2560  มีจำนวน 1.26 ล้านตันปี 2559 จำนวน 1.64 ลานตัน ลดลง -23.3%

อย่างไรก็ตามข้อมูลการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปี 2560 ของสภาพัฒน์ฯ  โดยดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้แถลงข่าวรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 พบว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ในไตรมาส 2 (เดือน เม.ย. - มิ.ย.) สูงถึงร้อยละ 3.7 ส่งผลให้จีดีพีครึ่งปีแรกโตร้อยละ 3.5  จึงนับเป็นสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจไทย  ดังนั้นจึงมีโอกาสที่ตลาดเหล็กโดยรวม และตลาดเหล็กเส้นก่อสร้าง(เหล็กทรงยาว) มีโอกาสขยายตัว

ทาทา สตีล ขยายตลาดเหล็กมูลค่าเพิ่ม

นายจารีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TSTH กล่าวในโอกาสแถลงข่าวผลประกอบการไตรมาสแรกปีบัญชี 2561 ว่า ทาทา  สตีล เน้นการผลิตและทำตลาดสินค้าเหล็กมูลค่าเพิ่ม และประสบความสำเร็จมาอย่างดี  ตัวอย่างเช่น  เหล็กต้านแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว ยอดขายไตรมาสแรกปี บัญชี 2561 ของทาทา สตีล (ประเทศไทย) หรือเดือนเมษายน – มิถุนายน 2561 เท่ากับ 3,200 ตัน  โดยช่วงเดียวกันปีบัญชี 2560 มียอดขาย 2,900  ตันเพิ่มขึ้น 300 ตันหรือเพิ่มขึ้น 10.3บริการเหล็กตัดและดัด (Cut and Bend) ไตรมาสแรกปีบัญชี 2561 มียอดขาย13,900  ตัน เพิ่มขึ้น 600 ตันหรือ  4.5 %จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำยอดขายได้ 13,300  ตัน   ส่วนเหล็กเส้นแรงดึงสูง SD 50 ยอดขายไตรมาสแรกปีบัญชี 2561  ทำได้ 24,800  ตัน ลดลง 3,300  ตันหรือคิดเป็น -11.7%     เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 28,100  ตัน

ปัจจุบันทาทา  สตีล (ประเทศไทย) มีกำลังการบริการเหล็กเส้นขึ้นรูป ตัดและดัดเดือนละ 10,000  ตัน  และได้เตรียมพร้อมเพิ่มกำลังการผลิตด้วยการติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มในพื้นที่โรงงานเดิมที่มีพร้อมอยู่แล้ว ทั้งนี้การลงทุนด้านเครื่องจักรอยู่ที่ 75-85  ล้านบาท  จุดตัดสินใจในการลงทุนก็คือเมื่อการใช้กำลังการผลิตเหล็กเส้นขึ้นรูปมากกว่าร้อยละ 70 ซึ่งปัจจุบันนี้ใช้กำลังการผลิตประมาณร้อยละ 50

ส่วนเหล็กเส้นแรงดึงสูงนอกจากผลิตและจำหน่ายเหล็กเส้นชั้นคุณภาพ SD 50 แล้วทาทา สตีล  เตรียมความพร้อมเพื่อผลิตเหล็กเส้นแรงดึงสูงชึ้นคุณภาพ SD 60  ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม เพื่อให้มีการออกมาตรฐานอุตสาหกรรมสำหรับเหล็ก SD 60

ผลกระทบจากตลาดรวมมีทั่งบวกและลบ

นายจารีฟ มังกัล กล่าวว่า ยอดขายเหล็กเส้นได้รับผลกระทบจากความต้องการของงานก่อสร้างที่ลดลง  ส่วนยอดขายเหล็กลวดปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากยอดการนำเข้าจากจีนลดลง

ทั้งนี้ปริมาณการขายโดยรวมทาทา  สตีล ไตรมาสแรกปีปัญชี 2561 เท่ากับ 276,200  ตันลดลงร้อยละ 8  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 300,000  ตัน  ในจำนวนนี้เหล็กเส้นทรงยาว(เหล็กก่อสร้าง)ลดลงร้อยละ 21 นั่นคือไตรมาสแรกปีบัญชี 2561  มียอดขาย 156,000  ตันส่วนช่วงเดียวกันปีก่อนมียอดขาย198,000  ตัน  และตลาดส่งออกต่างประเทศลดลงร้อยละ  2  เนื่องจากเป็นฤดูมรสุม งานก่อสร้างของประเทศลูกค้าลดลง  ทั้งนี้มียอดขายไตรมาสแรกปีฯ 2561 ที่28,000 ตัน โดยช่วงเดียวกันปีก่อนทำได้ 28,700  ตัน

ยอดขายที่เพิ่มขึ้นและมีอนาคตดีคือตลาดเหล็กลวด โดยไตรมาสแรกปีฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 36  ทำได้ 73,100  ตัน  ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนมียอดขาย 53,700  ตัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาว่า โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐอีกหลายโครงการสามารถเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2560 (ไตรมาสแรกปีงบประมาณภาครัฐ 2561) ย่อมเป็นปัจจัยบวกสนับสนันยอดขายเหล็กโดยรวมให้เพิ่มขึ้น

ต้นทุนเศษเหล็กเพิ่มยอดขายลด

จุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยอยู่ที่อุตสาหกรรมเหล็กขั้นกลาง  ในส่วนของทาทา  สตีล (ประเทศไทย)  ใช้เศษเหล็กเป็นวัตถุดิบในการผลิต   โรงงานในเครือทาทา สตีลฯ ใช้กระบวนการผลิตเหล็กเส้นด้วยกระบวนการหลอมในเตาไฟฟ้า  (Electrical arc furnace, EAF)  ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กชนาดต่างๆ ในยี่ห้อ “ทาทา  ทิสคอน”  ทั้งนี้ EAF เป็นกระบวนการหลอมน้ำเหล็กที่กำจัดสิ่งปนเปื้อนได้ดีกว่าการหลอมด้วยกระบวนการอื่น  นอกจากนี้ในขั้นตอนการผลิตมีการพ่นก๊าซที่กำจัดมลทินสิ่งสกปรกในน้ำเหล็กได้หมดจด  จึงได้น้ำเหล็กที่บริสุทธิ์เป็นเนื้อเดียวกัน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทำให้ได้เหล็กเส้นแข็งแกร่งสูง สม่ำเสมอกันทุกเส้น ตรงความต้องการของผู้ใช้งาน และเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์เหล็กสากล ขั้นตอนสุดท้ายผ่านระบบ Thermo Mechanical Treatment (T.M.T) ที่พ่นสเปรย์ละอองน้ำแรงดันสูง ในระดับอุณหภูมิที่เหมาะสม  ทำให้เหล็กเส้นนั้นมีความแข็งแกร่งและความยืนหยุ่นได้มาตรฐานมีความสมดุลกัน

อย่างไรก็ตาม ราคาวัตถุดิบ-เศษเหล็กขึ้นอยู่กับตลาดโลกซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ราคาเศษเหล็กปรับตัวขึ้น และความต้องการผลิตภัณฑ์เหล็กลดลงนั้นมีผลต่อความสามารถในการทำกำไร แม้ว่าราคาขายปรับขึ้นแล้วก็ตาม  ดังเห็นได้จากในไตรมาสแรกปีฯ2561  ทาทา สตีล ส่งมอบสินค้า 276,000  ตัน ลดลงร้อยละ 8.3  ในช่วงเวลาดังกล่าวมียอดขายสุทธิคิดเป็นตัวเงิน 4,608  ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ  0.26  ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวจึงมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมสินทรัพย์  (EBITDA)139  ล้านบาทซึ่งลดลงจากEBITDA ช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 509  ล้านบาทถึงร้อยละ 72.7  และทำให้มีผลขาดทุนหลังหักภาษี 46  ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรหลังหักภาษี 216 ล้านบาท  ในส่วนหนี้สินรวมได้ชำระเงินกู้ระยะยาวทั้งหมดแล้ว และมีเงินสดในมือ 834  ล้านบาท ทำให้มีความคล่องตัวในการลงทุนต่าง ๆ ส่วนประสิทธิภาพการบริหารสินค้าคงคลังรวมอยู่ในเกณฑ์ดี  นั่นคือ ไตรมาสแรกปีฯ 2561 อยู่ช่วงเวลา 44 วันจำนวนเงิน 2,968  ล้านบาท  ขณะที่ไตรมาสแรกปีฯ 2560 อยู่ที่ 49 วัน จำนวนเงิน 3,022  ล้านบาท ดีขึ้นร้อยละ   10.2 และ 1.8 ตามลำดับ  อันหมายถึงประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดี

ข้อมูลที่สะท้อนภาพการบริหารจัดการที่ดียังเห็นได้จากสถิติด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ โรงงาน NTS ทำสถิติไม่มีอุบัติเหตุถึงขั้นหยุดงานบรรลุ 5 ปี และโรงงาน SCSC บรรลุ 4 ปี  จึงทำให้โรงงาน NTS ได้รับรางวลความปลอดภัยระดับประเทศ ส่วนโรงงาน SCSC ได้รับรางวัลความปลอดภัยระดับจังหวัด

 

#