Chevron Enjoy Science ร่วมมือ 4 อุตสาหกรรมหลัก “ยานยนต์และชิ้นส่วน-พลังงาน-แปรรูปอาหาร และไมโครอิเล็กทรอนิกส์" ชูโมเดล 2S "เพิ่ม STEM - เติม SKILLs" สร้างทักษะแรงงานอาชีวะให้เท่าทันเทคโนโลยี และตอบโจทย์ความต้องการอุตสาหกรรม 4.0       

 

            พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวในงานเสวนา อาชีวะ 4.0 ศักยภาพแห่งอนาคต ที่จัดโดยโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ว่า ความท้าทายสำคัญในการพัฒนาประเทศ คือ การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สอดรับกันในทุกองค์ประกอบ ทั้งระบบสาธารณูปโภค ระบบเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน ตลอดจน การเตรียมกำลังคนเพื่อให้พร้อมก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และสิ่งสำคัญคือต้องส่งเสริมและกระจายโอกาสการเข้าถึงทรัพยากร โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีข้อจำกัดด้านเงินทุนและการจัดหาแรงงานที่มีประสิทธิภาพ

            นโยบายสำคัญคือ การเร่งผลิตและพัฒนากำลังคนสาขาอาชีวะให้มีทักษะยุคดิจิทัลตรงตามความต้องการ ป้อนผู้ประกอบการที่ต้องยกระดับกระบวนการผลิตสู่ระบบออโตเมชั่นในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า เพราะความต้องการช่างเทคนิคมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ดังนั้นหากปล่อยให้ภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาคน ฝ่ายเดียวคงไม่สามารถสำเร็จได้เร็ววัน ภาคการศึกษาที่เป็นผู้พัฒนาคน ควรจับมือภาคอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ใช้คน เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาแรงงานในทิศทางที่ถูกต้องร่วมกัน ด้วยโมเดล 3 ประสาน ระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย โดยมีภาคเอกชนเป็นกองหนุนสำคัญ

            พลอากาศเอก.ประจิน กล่าวต่อว่า หนึ่งในแนวทางสำคัญคือ การพัฒนาทักษะอาชีพ หรือ Technical Vocational Education and Training (TVET) ซึ่งเป็นการศึกษาทั้งในและนอกระบบที่มุ่งเน้นการลงมือทำจริง ทำให้แรงงานมีทักษะ สามารถประยุกต์ใช้ในการทำงานได้ทันที นับเป็นเรื่องดีที่วันนี้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันนำรูปแบบ TVET มาเสริมสร้างการพัฒนาทักษะอาชีพให้กับแรงงาน จนเริ่มปรากฏผลสัมฤทธิ์ที่จะนำไปสู่การพัฒนาคนอย่างยั่งยืน

            ด้าน ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาแรงงานอาชีวะนั้นถือว่ามีความคืบหน้าไปด้วยดี โดยในปีการศึกษา 2561 มีสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพทั่วประเทศเพิ่มเป็น 39.70% และสายสามัญ 60.30% ซึ่ง สอศ. กำลังเร่งสร้างความเข้าใจและแรงจูงใจเพื่อเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพมากขึ้นให้ได้สัดส่วน 50% ตามนโยบายของรัฐบาล

            ขณะที่การพัฒนาเชิงคุณภาพได้ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม รวมถึงโครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ในการร่วมกันพัฒนาทักษะนักเรียนอาชีวะอย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาค นอกจากนี้ได้ผนึกความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ลงนาม MOU เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี โดยมุ่งเน้นการผลิตบุคลากรอาชีวศึกษาเพื่อป้อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve และยังร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศที่เชี่ยวชาญต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้ สอศ. เชื่อมั่นว่าจะสามารถนำไปสู่การพัฒนา เด็กอาชีวะที่มีคุณภาพ และมีศักยภาพตอบโจทย์ต้องการภาคอุตสาหกรรม คือ สามารถคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาเป็น และสร้างนวัตกรรมได้ 

            ขณะที่ นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นการเร่งพัฒนา ช่างเทคนิ” ให้มีทักษะฝีมือเพื่อจะเท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ ถือเป็นโจทย์สำคัญของโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ที่ทำงานร่วมกับ 7 องค์กรภาครัฐ ตามแนวนโยบาย รัฐร่วมเอกชน” เพราะนอกจากช่วยตอบโจทย์ความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทยต่อสายตานักลงทุน

            ทั้งนี้ จากที่โครงการฯ ได้ทำวิจัยเชิงลึกเรื่อง ปัญหา - ความท้าทายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย 4.0” ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)                  และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) พบว่า หัวใจสำคัญในการผลิตช่างเทคนิคที่มีศักยภาพ คือ การเพิ่มและเติม 2S (STEM + SKILLs) หมายถึง การเพิ่มองค์ความรู้ด้านสะเต็ม และเติมทักษะวิชาชีพให้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่แก่ครูอาชีวะเพื่อนำไปถ่ายทอดและผลิตช่างเทคนิครุ่นใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องมีตรรกะการคิด คำนวณ วิเคราะห์ และสื่อสารได้หลายภาษา รวมถึงมีภาวะผู้นำและทักษะการเข้าสังคม ควบคู่ทักษะการควบคุมเครื่องจักรกลสมัยใหม่

            นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการสถาบันคีนันแห่งเอเซียกล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการพัฒนา “ช่างเทคนิค” ของโครงการฯ จะเป็นการเพิ่ม STEM และเติม SKILLs ควบคู่กับการจัดตั้ง        ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ (TVET Hub) ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรพื้นฐาน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และปรับรูปแบบการสอนครูอาชีวะ โดยประสานความร่วมมือภาคธุรกิจอย่างใกล้ชิด โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ผลิตช่างเทคนิคที่มีทักษะตรงความต้องการให้กลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve ซึ่งโครงการพุ่งเป้าใน 4 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน พลังงาน แปรรูปอาหาร และไมโครอิเล็กทรอนิกส์ โดยคาดหวังว่าจะทำให้ช่างเทคนิคมีส่วนช่วยยกระดับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เชื่อมสู่ออโตเมติก โรโบติก ให้กับกลุ่มเอสเอ็มอีแต่ละพื้นที่ 

            อย่างไรก็ตามปัจจุบันโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ด้วยการยกระดับการศึกษาสาขาสะเต็มในระดับสามัญและอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ได้ดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 4 และกิจกรรมด้านอาชีวศึกษาที่สอดรับตามแนวนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะ TVET Hub ได้จัดตั้งขึ้นแล้ว 5 แห่งจากเป้าหมาย 6 แห่งทั่วประเทศ  ถือว่ามีความสำเร็จต่อเนื่องในทุกพื้นที่ มีผู้ได้รับประโยชน์แล้วกว่า 110,000  คน ทั้งคาดหวังว่า TVET Hub ที่จัดตั้งขึ้น จะเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างอาชีวะพันธุ์ใหม่ให้สำเร็จตามเป้าหมายภาครัฐได้อย่างแท้จริง