นาทีตึกถล่ม

 

บริเวณเกิดเหตุในการรื้อถอนอาคาร

 

ทีมวสท.เข้าสำรวจโครงสร้างและอาคาร

 

จากเหตุร้ายที่เกิดอย่างไม่คาดคิดเมื่อบ่ายวันที่ 7 ม.ค. 62 ตึกแถว 4 ชั้นพังถล่มใกล้ปากซอยรามคำแหง 51/2 ถนนรามคำแหงขาออก แขวงบางกะปิ เขตหัวหมาก  ทำให้ประชาชนแตกตื่นวิ่งหนีเอาชีวิตรอด วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นำโดย รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษา วสท.และทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญวสท.พร้อมด้วยสำนักการโยธา และลงพื้นที่เกิดเหตุ

 

รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า พื้นที่เกิดเหตุเป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งได้ทำการเวนคืนพื้นที่เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้ารามคำแหง  โดยได้ว่าจ้างผู้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่เดือน ธ.ค. 61 จนถึงวันที่เกิดเหตุ เพื่อจะได้ส่งมอบพื้นที่ให้กับ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัทชิโนทัย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มต่อไป  ในวันเกิดเหตุ ผู้รับจ้างรื้อถอนจาก รฟม.ได้นำรถแบ็กโฮมารื้อถอนส่วนที่เหลือจากการรื้อถอนในเดือนธันวาคม  ขณะทำการรื้อถอนจากด้านในตัวระเบียงนั้น แผ่นปูนที่เป็นกำแพงผนังของชั้น 2 รับแรงกระแทกไม่ไหว จึงหลุดลงมากระแทกกับกันสาดด้านล่าง เป็นเหตุให้เกิดการถล่มลงมาโดนคนเดินถนนได้รับบาดเจ็บ 2 ราย

 

จากการเข้าตรวจสอบโครงสร้างอาคารเกิดเหตุพบว่า มีการขออนุญาตรื้อถอนถูกต้อง มีวิศวกรดูแลควบคุมงาน แต่ตัวอาคารเก่าคาดว่าน่าจะมีจุดชำรุดที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ทำให้เกิดความผิดพลาดขณะรื้อถอน ซึ่งในขั้นตอนการรื้อถอนถือว่ามีความสำคัญพอๆกับการก่อสร้าง เพราะต้องดูโครงสร้างและต้องวางแผนการดำเนินการให้รอบคอบ ในกรณีนี้เป็นความรับผิดชอบเบื้องต้นของผู้รับจ้างรื้อถอนอาคารที่เกิดการถล่มลงมา  สำหรับอาคารของธนาคารออมสินที่ตั้งอยู่ติดกับอาคารที่เกิดเหตุนั้น เบื้องต้นทางสำนักงานเขตบางกะปิ มีคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไข บริเวณชั้นที่เสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยระหว่างนี้ให้หยุดใช้ตัวอาคารจนกว่าจะมีการแก้ไข เพื่อการใช้งานระยะต่อไปได้อย่างปลอดภัย

 

          สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) มี 3 สัญญา คือ สัญญา E1 : ผู้รับเหมาคือ CKST JV, สัญญา E2 : ผู้รับเหมา คือ CKST JV  และสัญญา E3 : ผู้รับเหมา คือ ITD จุดเกิดเหตุครั้งนี้อยู่บริเวณพื่นที่ที่จะสร้างสถานีรถไฟฟ้ารามคำแหง Entrance1 ของสัญญา E2 ของ CKST JV (ตามผังแสดงในหน้า 2 )  ซึ่งในการก่อสร้าง เจ้าของงาน (รฟม.) จะมีหน้าที่ในการเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พร้อมทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเหนือดินออก (จนถึงระดับดิน) ก่อนส่งมอบพื้นที่ให้ ผู้รับเหมา (CKST JV) เพื่อทำการก่อสร้างโครงสร้างใต้ดินต่อไป ส่วนการรื้อถอนโครงสร้างใต้ดิน เป็นหน้าที่ของผู้รับเหมา (CKST JV)

 

           

            รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า อาคาร 4 ชั้นนี้ จากการลงพื้นที่สันนิษฐานสาเหตุอาคารถล่มไว้ 2 ประเด็น คือ 1.ขั้นตอนการรื้อถอนไม่ถูกต้อง และ 2.ขั้นตอนถูกต้องตามหลักการ แต่เป็นเหตุสุดวิสัย ที่อาจจะเกิดจากจุดอ่อนในโครงสร้างของอาคารที่มองไม่เห็น อย่างไรก็ตามในด้านเทคนิค อาคารดังกล่าวเป็นอาคารเก่ามีอายุ 40-50 ปี ระบบการก่อสร้าง กำลังคอนกรีตและชนิดของคอนกรีตอาจจะไม่เหมือนกับในปัจจุบัน จึงทำให้มีปัญหาได้ ขณะเดียวกันอาจจะมีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้อง เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากอาคารตั้งอยู่ริมถนน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวิเคราะห์และวิจัยหาจุดบกพร่องให้ได้ และต้องมีค้ำยันหรือพยุงจุดสำคัญ ก่อนที่จะรื้อถอนส่วนอื่น ๆ ซึ่งจะต้องมีการค้ำยันไว้จนกว่าการรื้อถอนจะหมดสิ้น

         นอกจากนี้การรื้อถอนอาคารโดยเฉพาะอาคารเก่าๆ จะต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้มีผลกระทบกับผู้คน สาธารณูปโภค อาคารใกล้เคียงและสิ่งแวดล้อม ยิ่งเป็นอาคารริมถนน มีผู้คนเดินผ่านจำนวนมาก กำแพงกั้นการรื้อถอนอาคารต้องมิดชิดกว่าปกติ ไม่ละเลย ฉะนั้นการรื้อถอนส่วนที่เหลือต้องเข้มงวด และต้องมีวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญมาควบคุมดูแลการรื้อถอน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบและดำเนินการ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิศวกร

 

          ในงานด้านวิศวกรรม จึงไม่เพียงใส่ใจแต่งานก่อสร้างเท่านั้น การรื้อถอนนับเป็นสิ่งสำคัญต่อความปลอดภัยของประชาชนและสังคมแวดล้อม  จำเป็นต้องตรวจสอบการรื้อถอนตั้งแต่ การวิเคราะห์เพื่อวางแผนและออกแบบการรื้อถอน ขั้นตอนและวิธีการรื้อถอน อุปกรณ์เครื่องจักรที่นำมาใช้ต้องเหมาะสมและปลอดภัย มีการป้องกันฝุ่นละอองและเศษซาก พร้อมทั้งมีวิศวกรที่มีใบอนุญาตควบคุมงานใกล้ชิด ตลอดจนมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์แก่ผู้สัญจรและผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงอย่างมีประสิทธิภาพด้วย 

 

รศ.แฮ ยัง นอ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน

 

รศ.เอนก ศิริพานิชกร

 

รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ