สะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 สถาปัตยกรรมระดับโลก

สะพานภูมิพล (Bhumibol Bridge) มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า สะพานวงแหวนอุตสาหกรรม (Mega Bridge) เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสำหรับถนนวงแหวนอุตสาหกรรม เชื่อมระหว่างถนนพระรามที่ 3 ถนนปู่เจ้าสมิงพราย และถนนสุขสวัสดิ์ ลักษณะเป็นสะพานขึงขนาด 7 ช่องการจราจร ทางด้านเหนือหรือ "สะพานภูมิพล 1" เชื่อมระหว่างแขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร กับตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ทางด้านใต้หรือ "สะพานภูมิพล 2" เชื่อมระหว่างตำบลทรงคนองกับตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

เพิ่มประสิทธิภาพโลจิสติกส์แก่โรงงานอุตสาหกรรม

 “สะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2” ในแนวถนนวงแหวนอุตสาหกรรม เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร วัตถุประสงค์ของทั้งสองสะพานดังกล่าวเพื่อคลี่คลายปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และมุ่งอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและเป็นเส้นทางโลจิสติกส์เชื่อมโยงย่านอุตสาหกรรมของพื้นที่เขตราษฎร์บูรณะ ยานนาวา กรุงเทพมหานครและอำเภอสำโรงใต้ จังหวัดสมุทรปราการผ่านโครงข่ายของถนนวงแหวนอุตสาหกรรมที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบโครงข่ายทางด่วนและถนนเส้นต่าง ๆ

โครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรมและสะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 ออกแบบสร้างเป็นสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 2 ช่วงต่อเนื่องกัน  นับเป็นสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 3 และ 4 ของประเทศไทย  โครงการทั้งหมดมีความยาวระยะทาง  25 กิโลเมตร โครงสร้างพื้นฐานสะพานภูมิพล ประกอบด้วย 2 ช่วง คือ

สะพานภูมิพล 1 ก่อสร้างข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านเหนือ เชื่อมระหว่างแขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร กับตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นสะพานขึงเคเบิลคู่ขนาดกว้าง 7 ช่องจราจร ประกอบด้วยเสาสูง จำนวน 2 ต้น ความยาวสะพานช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 326 เมตร เป็นโครงสร้างประกอบระหว่างคอนกรีต และเหล็ก และความยาวตัวสะพานในช่วงด้านหลัง 128 เมตร เป็นโครงสร้างแบบคอนกรีตอัดแรง ความสูงจากระดับน้ำสูงสุดที่กึ่งกลางสะพานประมาณ 50 เมตร เพื่อให้เรือบรรทุกหรือขนส่งสินค้าสามารถแล่นลอดได้

สะพานภูมิพล 2 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านใต้ เชื่อมระหว่างตำบลทรงคนองกับตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นสะพานขึงเคเบิลคู่ขนาดกว้าง 7 ช่องจราจร ประกอบด้วยเสาสูง จำนวน 2 ต้น ความยาวสะพาน ช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 398 เมตร เป็นโครงสร้างประกอบระหว่างคอนกรีตและเหล็ก และความยาวตัวสะพานในช่วงด้านหลัง 152 เมตร เป็นโครงสร้างแบบคอนกรีตอัดแรง ความสูงจากระดับน้ำสูงสุดที่กึ่งกลางสะพานประมาณ 50 เมตร เพื่อให้เรือบรรทุกหรือขนส่งสินค้าจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถลอดได้เพื่อเข้าสู่ท่าเรือคลองเตย

ช่วงตะวันตก เป็นทางยกระดับข้ามถนนพระราชวิริยาภรณ์ และเป็นทางระดับพื้นราบ ก่อนจะเป็นทางยกระดับอีกครั้งเมื่อบรรจบกับถนนสุขสวัสดิ์ โดยแยกเส้นทางออกไปจากช่วงที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

ทางขึ้นลง “สะพานวงแหวนอุตสาหกรรม” มี  3 แห่ง คือ

1.ด้านทิศเหนือ บริเวณถนนพระรามที่ 3 เชื่อมระหว่างตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ กับแขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร มีทางขึ้น-ลงเชื่อมต่อมุ่งหน้าท่าเรือคลองเตย

2.พื้นที่ด้านใต้ บริเวณถนนปู่เจ้าสมิงพราย เชื่อมระหว่างตำบลทรงคะนอง กับตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

และ 3. พื้นที่ด้านตะวันตก บริเวณถนนสุขสวัสดิ์ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร จึงสามารถอำนวยความสะดวกด้วยการเชื่อมโยงได้อย่างทั่วถึง

ใช้งบร่วม 8 พันกว่าล้านบาท

การก่อสร้างสะพานแห่งนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2539 เห็นชอบให้กรมทางหลวงชนบท เป็นผู้ดำเนินโครงการ โดยมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมสำหรับรองรับรถบรรทุกที่วิ่งอยู่ในเส้นทางเชื่อมโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการกับท่าเรือคลองเตยได้อย่างสะดวก รวดเร็วขึ้น อีกทั้งเพื่อมิให้รถบรรทุกเหล่านี้วิ่งเข้าไปยังตัวเมืองหรือทิศทางอื่นๆ ทำให้ปัญหาจราจรบรรเทาลงได้  “สะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2” ในแนวถนนวงแหวนอุตสาหกรรมนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2543 และก่อสร้างสำเร็จในช่วงปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี พ.ศ.2549

งบประมาณการลงทุนของโครงการพระราชดำรินี้ใช้งบประมาณแผ่นดินจำนวน 3,660 ล้านบาท เงินกู้สมทบจาก JBIC วงเงิน 14,887 ล้านเยน รวมมูลค่าโครงการคิดเป็นเงินบาทรวมทั้งสิ้น 8,739 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเวนคืนรวมทั้งสิ้น 6,357 ล้านบาทที่จ่ายให้กับเจ้าของกรรมสิทธิ์ทั้งสิ้น 767 ราย จำนวนที่ดิน 1,180 แปลง เนื้อที่ 347 ไร่ ค่าทดแทนที่ดินรวม 5,040 ล้านบาท จำนวนสิ่งปลูกสร้าง 1,338 หลัง ค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งสิ้น 1,317 ล้านบาท

ประโยชน์ของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้ (สะพานภูมิพล)เพื่อรองรับการขนถ่ายและลำเลียงสินค้าจากท่าเรือคลองเตยไปยังโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆทางตอนใต้ของกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการแล้วยังช่วยเสริมโครงข่ายถนนของกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการที่เป็นโครงข่ายสำคัญในการขนถ่ายสินค้าในพื้นที่โครงการไปยังส่วนต่างๆของประเทศได้อีกด้วย เช่น ด้านทิศใต้ออกสู่ถนนพระราม 2 หรือทางทิศตะวันตกไปสู่ถนนสุขุมวิทหรือถนนบางนา-ตราด ได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น

นอกจากประโยชน์หลักในการสัญจรแล้วสะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 ยังมีความงดงามในแง่โครงสร้างทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น นับว่าเป็นอีกหนึ่งสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่งดงามที่สุดอีกแห่งหนึ่ง

สะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 ออกแบบโดย พอลเล กุสตาฟสันส์ วิศวกรชาวสวีเดน เริ่มก่อสร้างปี 2546 เปิดใช้วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549  ได้รับการบันทึกว่าเป็นการสร้างสะพานขึงเคเบิลคู่ที่สร้างเร็วที่สุดในโลกและใหญ่ที่สุดในเอเชีย

#