• 24 มกราคม 2017 at 15:52
  • 1159
  • 0

ตามที่มีข่าวว่า ณ หมู่บ้านกลางกรุง เดอะ รอยัล เวียนา (The Royal Viena) รัชวิภา ลูกบ้านกว่า 200 หลังคาเรือนได้ส่งเรื่องถึงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อร้องเรียน บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) เนื่องจากบ้านในโครงการมีปัญหาเป็นผลกระทบจากโครงสร้างอาคารและส่วนควบอาคาร โดยถนนของหมู่บ้านทรุดตัวและดึงหน้าบ้านของลูกบ้านลาดเอียงลง จนประตูรั้วบ้านปิดไม่ได้ ตัวบ้านบางส่วนมองเห็นเป็นโพรงลึก ในขณะที่บางบ้านมีปัญหาหนัก จนไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ เนื่องจากกลัวจะเป็นอันตราย ต้องย้ายออกไปเช่าบ้านและคอนโดฯอยู่ที่อื่น (http://goo.gl/Ougr3S)

         ในกรณีนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหารศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้นำคณะออกสำรวจสภาพโดยรอบพบว่า บริเวณหมู่บ้านจัดสรรอายุ 50 ปีที่อยู่ด้านหน้า (เหนือ) ของโครงการ ถนนและอาคารต่าง ๆ อยู่ในสภาพดี ไม่มีการทรุดตัว  ส่วนในหมู่บ้านไพฑูรย์ที่อยู่ด้านหลัง (ใต้) ของโครงการ ที่มีอายุ 35 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ.2523) ถนนและตัวบ้านก็อยู่ในสภาพดีเช่นกัน

         จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนั้นทราบว่า บริเวณส่วนหลังของโครงการที่เกิดการทรุดชัดเจนนั้น แต่เดิมมี "บ่อ" หรือ "บึง" ขนาดใหญ่พอสมควร ชาวบ้านรายหนึ่งกล่าวว่าเมื่อราว 40 ปีก่อน ตนได้รื้อบ้านไม้เก่าจากอยุธยา แล้วล่องเรือขนาดราว 10 เมตรมาตามคลองเปรมประชากร แล้วเลี้ยวเข้ามาใน "บึง" หรือ "บ่อ" แห่งนี้เพื่อนำไม้มาเก็บรักษาไว้เพื่อสร้างบ้านในภายหลัง ณ ที่ตั้งหมู่บ้านที่ดินจัดสรรที่ตั้งอยู่ด้านเหนือติดกับโครงการนี้

         ชาวบ้านบอกว่าที่ดินแปลงนี้แต่เดิมเป็นของ บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย "บ่อ" หรือ "บึง" นี้อาจถูกขุดดินส่วนหนึ่งไปทำโรงงานในสมัยก่อน และในภายหลังยังเคยใช้เป็นสำนักงานของฝ่ายฝึกอบรมสัมมนาในอดีตด้วย  อาจเป็นได้ว่าในภายหลังบึงนี้ถูกถมด้วยเศษอิฐหรือเศษปูน โดยอาจไม่ได้ผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง คือการสูบน้ำออก ขูดโคลนมาตากแห้ง แล้วค่อยถมและบดอัด ก่อนที่จะทิ้งระยะเวลาหนึ่งเพื่อการก่อสร้างในภายหลัง จึงอาจทำให้ดินทรุด

         ในกรณีนี้เคยเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในกรณีอาคารอะพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งทรุดเอียงในวันที่ 31 มีนาคม 2556  อาคารหลังนี้ตั้งอยู่หลังห้างสรรพสินค้าเซียร์สตรีท ข้างหมู่บ้านภูมรินทร์ ในเขตเทศบาลเมืองคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ห่างจากถนนพหลโยธินประมาณ 800 เมตร  โดยอาคารหนึ่งทรุดเอียงไปทางด้านเหนือ ประมาณ 10 องศา และด้านตะวันออก ประมาณ 5 องศา  ในกรณีอาคารอะพาร์ตเมนต์ข้างต้น ได้รื้อถอนไปแล้ว

         สิ่งที่ในวงการก่อสร้างควรดำเนินการในอนาคตก็คือการให้บริษัทวิชาชีพที่เกี่ยวข้องการทำประกันภัยทางวิชาชีพ (Indemnity Insurance) ในกรณีการทดสอบสภาพดิน การออกแบบอาคาร การควบคุมการก่อสร้าง และการก่อสร้างอาคาร เป็นต้น เพื่อว่าหากเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิด จะได้มีผู้รับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ในอนาคตเมื่อประเทศไทยเปิดตลาดตามประชาคมอาเซียน การประกันภัยในวิชาชีพนี้จำเป็น ๆ อย่างยิ่งเพราะในประเทศอื่น ๆ มีการดำเนินการ และการประกันภัยนี้จะสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างตรายี่ห้อสินค้าให้กับบริการทางวิชาชีพของไทยให้แข่งขันได้ในระดับสากลอีกด้วย

         เฉพาะสำหรับกรณีโครงการบ้านกลางกรุงนี้ ก็คาดว่าจะสามารถซ่อมแซมในส่วนที่เป็นถนน รั้วและพื้นที่รอบตัวอาคารให้ดีได้  ส่วนตัวอาคารทาวน์เฮาส์ส่วนใหญ่ที่ไม่สูงนัก และเชื่อว่าคงลงเข็มไว้เป็นอย่างดี คงไม่มีปัญหา แต่คงต้องมีการตรวจสอบในรายละเอียดต่อไป  การเจราจาและให้ความเข้าใจร่วมกันจึงเป็นประเด็นสำคัญในขณะนี้

ภาพที่ 1: ภาพถ่ายทางอากาศแสดงตัวโครงการบ้านกลางกรุง เดอะ รอยัล เวียนนา รัชวิภา

ภาพที่ 2: แผนที่ JICA ที่จัดทำ ณ ปี 2530 แสดงให้เห็นว่าบริเวณที่ตั้งโครงการเป็นที่ลุ่มมีหญ้าปกคลุ

ภาพที่ 3: กรณีการทรุดตัวของอาคาร หลังห้างเซียร์สตรีท เมื่อปี 2556 (http://goo.gl/oA4JCT)

ภาพที่ 4: การทรุดตัวของอาคารหลังห้างเซียร์สตรีทคงเกิดเพราะสร้างบนที่บึงเก่า

ผู้แถลง:

ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือAREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน